เดือดจัด "ณัฐชา" ซัด "รมว.กลาโหม" เอาตัวรอดเหตุ "ร.ล.สุโขทัยล่ม" ตั้งกระทู้สดถามจำเป็นแค่ไหนต้องออกตระเวน จี้ถามมีชูชีพเท่าไหร่ ลั่นถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ ด้าน "รมช.กลาโหม" เผย ช่วงแรกเรือเอียง 60 องศา คิดว่าลากเข้าฝั่งได้

22 ธ.ค. 65 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีวาระพิจารณากระทู้ถามสด โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมีพลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบหมายให้ตอบคำถามแทน

 

นายณัฐชา กล่าวว่า กรณีเรือหลวงสุโขทัย เป็นการเสียใจครั้งยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวไทย ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังปฎิบัติค้นหาผู้ประสบภัยในทะเล ตนขอให้กำลังใจให้ค้นหาผู้รอดชีวิต รวมไปถึงครอบครัวกำลังพลทุกคน แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ยังไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเหตุการณ์ที่เรือหลวงเผชิญกับคลื่นลมแรง และมองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นการสูญเสียภายใต้การบริหารของกองทัพครั้งแล้วครั้งเล่า

 

“ผมอยากจะถามไปถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำสูงสุดของกองทัพ วันนี้ไม่ได้มาตอบไม่เป็นไร ท่านก็คงกำลังเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน” นายณัฐชา กล่าว

 

นายณัฐชา ย้ำอีกว่า คำตอบของพลเอกชัยชาญ ที่มาตอบแทนในวันนี้ จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของครอบครัวพี่น้องประชาชน

 

“อยากให้รัฐมนตรีช่วยฯ ตอบให้ชัด เพราะคำตอบของท่านในวันนี้จะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของครอบครัวผู้ที่กำลังรอคอยความอยู่รอดของกำลังพล เราได้ฟังจากผู้บัญชาการทหารเรือไปแล้วไม่ได้ช่วยอะไรเลย แต่เป็นการซ้ำเติมความรู้สึกนึกคิดของพี่น้องประชาชนที่ติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดด้วยซ้ำ” นายณัฐชา กล่าว

 

นายณัฐชา กล่าวอีกว่า อยากให้ช่วยอธิบายเหตุการณ์เริ่มต้นเวลาที่น้ำเริ่มเข้าเรือ ได้รับการแจ้งเหตุเวลาใด เรือที่เข้าไปช่วยลำแรก ไปในช่วงเวลาใด ตอนนั้นมีกำลังพลจำนวนเท่าไหร่ เรือไม่จมสู่พื้นทะเลใช่หรือไม่ อุปกรณ์ในการนำไปช่วยมีอุปกรณ์ใดบ้าง มีชูชีพเท่าไหร่ เรือยางเท่าไหร่ อุปกรณ์อื่นๆที่จะช่วยกำลังพลให้รอดชีวิตมีอะไรบ้าง ได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานใดบ้างและได้รับการตอบรับจากหน่วยงานใดบ้าง

 

นายณัฐชา ยังถามด้วยว่า เรือหลวงสุโขทัยอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ มีประวัติการซ่อมบำรุงหรือประวัติการใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงมากน้อยแค่ไหน และการซ่อมบำรุงครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

 

ด้านพลเอกชัยชาญ ชี้แจงว่า พลเอกประยุทธ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่กำลังพลได้ทุ่มเทเสียสละในการปฎิบัติภารกิจครั้งนี้ โดยเฉพาะครอบครัวของกำลังพลที่เสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6 ราย และช่วงบ่ายวันนี้จะมีพิธีรับศพไปบำเพ็ญกุศล ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมเวลา 18.40 น. เป็นช่วงค่ำ ซึ่งศูนย์บัญชาการกองทัพเรือได้รับรายงานจากเรือรบหลวงสุโขทัยและได้รายงานไปที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามระดับบังคับบัญชา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้เข้าแก้ไขสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมเรือรบหลวงสุโขทัย

 

พลเอกชัยชาญ กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักๆ ทางกองทัพเรือได้รายงานว่า วันนั้นมีสภาพอากาศค่อนข้างจะมีคลื่นลมแรงมาก เรือได้ฝ่าคลื่นแรง และต่อมามีน้ำเข้ามาในตัวเรือและได้เข้าไปในเครื่องจักรไฟฟ้าจึงทำให้หยุดทำงาน ไม่สามารถควบคุมเรือได้ ส่งผลให้น้ำเข้ามาในตัวเรืออย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาพเรือในช่วงนั้นเอียงประมาณ 60 องศา

 

โดยทางศูนย์บัญชาการกองทัพเรือได้สั่งการให้เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือรบอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี และเฮลิคอปเตอร์จำนวน 2 ลำเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในช่วงเวลานั้น เรือหลวงกระบุรีอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เข้าไปในพื้นที่ประมาณ 20 ไมล์ทะเล ถึงเวลาประมาณ 20.40 น. นอกจากนี้ ได้ได้รับการช่วยเหลือจากเรือลากจูงในพื้นที่และเรือน้ำมัน

 

“กำลังพลทั้งหมด 105 คนมาอยู่ที่กาบเรือ เตรียมแต่การที่จะขนกำลังพลเหล่านั้น เข้าช่วยเหลือได้ 75 ราย อีก ประมาณ 30 รายพลัดตก ผมเองได้ไปพบกับญาติ ทุกคนก็แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต” พลเอกชัยชาญ กล่าว

 

พลเอกชัยชาญ ย้ำว่า การดำเนินการทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมภายในกองทัพเรือ ในช่วงที่เหลือเอียงประมาณ 60 องศา ได้คาดการณ์ว่าใช้เรือลากจุง ก็สามารถลากเรือหลวงสุโขทัยมายังฝั่งได้ แต่น้ำกลับเข้ามาเพิ่มเติมทำให้ท้ายเรือจม

 

ทั้งนี้ มีการสั่งการให้กองทัพเรือสอบสวนในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องเสื้อชูชีพ เรื่องที่สังคมให้ข้อสังเกตต่างๆ ส่วนเรื่องชูชีพ และเครื่องช่วยชีวิตในเรือนั้น ตนขอเรียนว่า ปกติจะมีจำนวนเท่ากับอัตราประจำเรือและมีส่วนหนึ่งที่เป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยทางทะเล มีทั้งชูชีพส่วนบุคคลและแพชูชีพ

 

“ด้วยสภาพเรือที่เอียง ทำให้ไม่สามารถที่จะปล่อยแพชูชีพได้ เพราะว่าคลื่นลมแรง แม้แต่เฮลิคอปเตอร์ที่ไปเพื่อจะโรยให้กำลังพลได้ขึ้นมาบนเฮลิคอปเตอร์นั้นก็ทำได้ยาก เรือนั้นโคลงเคลง อาจจะเป็นอันตรายได้” พลเอกชัยชาญ กล่าว

 

ส่วนข้อสังเกตว่ามีเสื้อชูชีพครบหรือไม่ ตอนนี้ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเรือหลวงสุโขทัยได้มีการซ่อมบำรุงใหญ่ครบทั้งระบบเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

 

จากนั้น นายณัฐชา ได้ขอบคุณสำหรับคำตอบ พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ถาม เป็นเพราะอยากทราบว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจกำลังพลที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งไม่ได้รับคำตอบ ส่วนเรื่องชูชีพตนไม่ได้ถาม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมรู้แจ้งอยู่แล้วว่า มีไม่พอ และกองทัพเรือจำนนต่อหลักฐานแล้ว

 

“ทหารที่รอดชีวิตมาได้ เขาได้บอกแล้วว่าเขาได้เผชิญเหตุการณ์ใดบ้าง เขาต้องปล่อยศพเพื่อนที่มาด้วยกัน ที่ไม่มีชูชีพ เขาต้องลอยคอกับเพื่อนที่ไม่มีชูชีพ ต้องลอยคอกับเพื่อนที่ว่ายน้ำไม่เป็น อะไรต่างๆ อันนี้กองทัพเรือจำนวนต่อหลักฐานและสังคมได้รับข้อมูลไปแล้วว่ามีไม่เพียงพอ ซึ่งต้องเข้าไปสู่ระบบการตรวจสอบ” นายณัฐชา กล่าว

 

นายณัฐชา ระบุว่า ตนขอถามต่อว่ามีภารกิจใดที่ต้องฝ่าคลื่นลมแรง ในวันและเวลามรสุม มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ใครเป็นคนออกหนังสือสั่งการ ได้รับข้อมูลจากจังหวัดหรือกรมอุตุนิยมวิทยาก่อนหรือไม่ว่า มีคลื่นลมแรง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง เหตุใดยังคงต้องดื้อดึงเอากำลังคนที่เป็นลูกหลานของพี่น้องประชาชน ไปทำภารกิจนี้ นอกจากนี้ กำลังพลที่ออกไปเป็นทหารเกณท์ใช่หรือไม่ มีกำลังพลที่ว่ายน้ำไม่เป็นใช่หรือไม่ รวมทั้งกำลังพลทั้งหมดได้เคยผ่านอบรมเผชิญเหตุภัยพิบัติหรือไม่

 

“มีวิธีการขั้นตอนอย่างไร พลทหารเหล่านี้เคยได้รับการฝึกอบรมหรือไม่ หรือท่านไม่ได้มองเห็นคุณค่าของพลทหารเลย มีภารกิจที่ไหนก็ส่งไป เอาจำนวนเข้าว่า สุดท้ายไม่ได้พัฒนาต่อยอดหรือฝึกอบรมให้กับพลทหารเหล่านั้นในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ” นายณัฐชา กล่าว

 

จากนั้น พลเอกชัยชาญ ชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็เน้นย้ำว่า ให้ดูแลกำลังพลทุกคนให้มีความปลอดภัย ทางกองทัพเรือก็ได้เตรียมการ แต่ด้วยสภาพอากาศสภาพแวดล้อมในเวลานั้น ขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน คงไม่ใช่ว่าจะมาตอบว่าทำไม่ได้หรืออย่างไร

 

พลเอกชัยชาญ กล่าวว่า เรือหลวงสุโขทัยมีหน้าที่ลาดตระเวนในทะเล ในสภาพอากาศที่เป็นคลื่นลมแรงแบบนี้ จะเห็นได้ว่า วันดังกล่าวมีเรืออับปาง 2-3 ลำเช่นเดียวกัน เรือหลวงสุโขทัยก็มีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยด้วย

 

“กรมอุตุนิยมวิทยาก็เลยแจ้งมา ก็มีการประเมินสถานการณ์ ก่อนที่จะตัดสินใจไป แล้วท่านถามว่ามีกำลังพลส่วนอื่นนั้น กำลังขนส่วนไหนก็ไปปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดชุมพร ก็เป็นการดำเนินการตามหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติในฐานะที่เป็นเรือหลวงที่ปฎิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่ทัพเรือภาค 1” พลเอกชัยชาญ กล่าว

 

ส่วนคำถามว่า มีการฝึกอบรมหรือไม่ พลเอกชัยชาญ ยืนยันว่า มีการฝึกซ้อมตลอดเวลา ก่อนที่จะออกเรือต้องมีการชี้แจงคำแนะนำในการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ต้องให้กองทัพเรือไปสอบข้อเท็จจริงว่าข้อปฏิบัติดังกล่าวกำลังพลได้เข้าใจถึงกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่

 

ทำให้นายณัฐชา ลุกขึ้นถามทันทีว่า “ออกไปลาดตระเวนอะไร ชูชีพท่านยังไม่มี ถ้าท่านจะเห็นไม่คาดคิด เรือชาวบ้านเรือเอกชนอับปาง ถ้าจะเอาชูชีพที่ไหนช่วยเขา ถ้าจะเอาแพยางที่ไหนช่วยเขา เพราะเรือของท่านเองยังช่วยไม่ได้เลย แล้วท่านไปลาดตระเวนภาษาอะไร นำกำลังพลไป 100 กว่าคน อุปกรณ์ก็ไม่ครบครัน”

 

นายณัฐชา ถามต่อว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่มา 8 ปีเต็มมีอำนาจล้นฟ้า ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพแล้วหรือไม่

 

“มันถึงเวลาแล้วหรือยัง กับเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีเต็มมีอำนาจล้นฟ้าท่านบริหารราชการให้หน่วยงานที่ท่านเกิดและโตและดีขึ้นยังไม่ได้แล้วจะบริหารประเทศในอีก 2 ปีที่เหลืออยู่ได้อย่างไร” นายณัฐชา กล่าว

 

พลเอกชัยชาญ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำไปผู้บัญชาการทหารเรือแล้วว่าจะต้องเสาะหาข้อเท็จจริงได้ กองทัพไม่อยู่เฉย พยายามทำทุกทางเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เป็นที่เชื่อมั่นของพี่น้องประชาชน

 

“กำลังพลในกองทัพก็มีความมั่นใจในกองทัพ ประชาชนก็มีความภาคภูมิใจในกองทัพ กองทัพก็อยู่คู่กับประชาชน กองทัพเองก็ระลึกเสมอว่า กองทัพจะต้องปฏิรูปตัวเอง ปรับวิธีการทำงานของตัวเองให้สามารถที่จะดูแลพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปฎิบัติภารกิจป้องกันประเทศหรือการรักษาความมั่นคงก็ดี กองทัพมีการปฏิรูปมาต่อเนื่อง” พลเอกชัยชาญ.