"ชวน" ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าซื้อเสียงกระจุย กลายเป็น "ธุรกิจการเมือง" ให้ทหารเข้ายึดอำนาจ ฉะ "รธน.60" ไม่ปราบโกงสมชื่อ ซัดคนแห่ลงใต้ หวังผลแบบซื้อของถูก แนะประชาชนกาคนดีเข้าสภาฯ ไปปกครองบ้านเมือง อย่าขายเสียงแลกเงินไม่กี่ร้อย
วันที่ 1 ม.ค.66 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง ธุรกิจการเมืองในการเลือกตั้งรอบหน้า ว่า เรื่องนี้รอบหน้าน่าจะใช้เงินหนักกว่าเดิม ตนเองจึงให้คำขวัญวันเด็ก ปี 2566 ว่า "ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต" และที่ผ่านมาก็พยายามผลักดันโครงการบ้างเมืองสุจริต ปลูกฝังจิตสำนึกไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น ให้คนรู้สึกว่า เป็นอันตราย ถ้าการเมืองสุจริต สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิด แต่ถ้าเป็นธุรกิจการเมือง ผลที่ตามมาคือสังคมที่มีการแสวงหาประโยชน์ในทางไม่ชอบ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง
"ถ้า ส.ส.ใช้เงิน แล้ว ส.ส.เอาเงินมาจากไหน เราทุกคนตอบได้ว่า เมื่อต้องใช้เงินก็ต้องมีผู้ให้เงิน ใครที่รวยพอที่จะเอารายได้หรือมรดกส่วนตัวมาจ่าย ฉะนั้นเราต้องช่วยกันรณรงค์ และย้ำให้คนได้เห็นว่า หากอยากได้รัฐบาลดี ต้องได้ ส.ส.ที่ดี อยากได้รัฐบาลที่ซื่อสัตย์ ก็ต้องได้ ส.ส.ที่ซื่อสัตย์ เพราะในระบบนี้ฝ่ายนิติบัญญัติ คือผู้ตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมาก ถ้าเลือกประเภทโกงเข้ามา ก็ได้รัฐบาลโกง แน่นอนที่สุดปัญหาจะตกกับชาวบ้านและประเทศชาติ ผมไม่อยากให้ประเด็นนี้ทำให้เกิดการท้อแท้ เพราะปัญหากับบ้านเมืองเป็นของคู่กัน ถ้าปัญหานี้มาก็อย่ายอมรับ และร่วมกันไม่เลือกนักการเมืองที่โกง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหน้าใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงต้องไม่เลือกพรรคการเมือง และนักการเมืองที่โกง เราจึงจะได้ผู้แทนฯ ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ถ้าคนเหล่านี้มีเสียงข้างมากเป็นรัฐบาล น่าจะเป็นรัฐบาลที่มาอย่างไร ก็ไปอย่างนั้น"
นายชวน กล่าวต่อว่า เรื่องนี้มีหน่วยงานที่ดูแลคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เราจึงต้องไปถาม กกต.ด้วย เมื่อต้องดูรายงานของแต่ละองค์กรที่ส่งมาสภาฯ เป็นไปในทางบวก แต่ในชีวิตจริงก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งบางทีเจ้าหน้าที่ตามคนใช้เงินไม่ถึง หรือเจ้าหน้าเองที่ไม่สุจริต สมัยก่อนช่วงคืนก่อนเลือกตั้ง หมาหอนจนเสียงแหบ แต่เดี๋ยวนี้หมาไม่ได้หอนแล้ว เพราะมีกระบวนการก่อนล่วงหน้า
นายชวน กล่าวต่อว่า โดยภาพรวมที่รัฐสภาครบรอบ 90 ปี สรุปว่า บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนมีความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย และหวงแหนประชาธิปไตยมากขึ้น เพียงแต่มีสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาคือ การเมืองที่ไม่สุจริต และธุรกิจการเมือง ในอีกทางหนึ่งก็วิตกกังวลเรื่องทหารยึดอำนาจ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ธุรกิจการเมือง กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องพี่น้องประชาชนต้องมีส่วนร่วมแก้ไข และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรียกว่าฉบับปราบโกง แต่เราใช้มาตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ ก็ปราบไม่ได้ แนวโน้มโกงยังมากขึ้น เราจึงต้องส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง กฎหมายที่ดี กับคนที่ดีจึงต้องไปด้วยกัน แต่กฎหมายดีอย่างไร ถ้าคนที่ใช้ไม่ดีก็มีปัญหา
เมื่อถามว่า หากเงินซื้อเสียงมาถึงหน้าบ้าน ประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร ระหว่างปฏิเสธตั้งแต่ต้น กับรับเงินไว้ก่อนแต่ไม่เลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครคนนั้นๆ นายชวน กล่าวว่า “ขอตอบว่าไม่รับเงิน เพราะเงินไม่ว่ากี่ร้อยไม่ได้ทำให้ชีวิตรุ่งเรือง ครั้งเดียวไม่ทำให้ใครที่ได้รับเงินเลือกตั้งกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวย ยกเว้นหัวคะแนนที่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้ามจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ติดอยู่ใจว่าเราไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
"ทำไมพรรคการเมืองถึงไปแย่งภาคใต้ คะแนนนิดเดียว ก็เพราะว่าเดิมภาคใต้ใช้ระบบ ไม่ใช้เงิน ยุคพวกผมไม่มี แต่ตอนหลังเงินเข้าไป แล้วฐานะของคนภาคใต้ก็เปลี่ยนไป เศรษฐกิจมีปัญหา รายได้ลด ผมเคยทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนเลือกตั้งปี64 ว่ารายได้คนภาคใต้ลดลงอย่างน่าตกใจ เช่น จ.ระนอง จ.ตรัง ตอนเลือกตั้งคราวโน้นรายได้ของคนใต้ลดลงหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือน เมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตคนก็เปลี่ยน นักการเมืองที่ใช้เงินเริ่มได้ผล แต่ได้ผลแบบไปซื้อของถูก เพราะที่อื่นแพง ภาคใต้ไม่เคยใช้เงินสักบาท พอเริ่มซื้อก็ซื้อแบบราคาถูก พรรคการเมืองเลยไปกันเยอะ ที่ซื้อถูกไม่ใช่เพราะค่าตัวเขาน้อย แต่เพราะในอดีตไม่มีการซื้อ แต่ที่อื่นมี ตอนผมเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีผู้สมัครเราคนหนึ่งไม่ให้เงิน จนแพ้เลือกตั้ง ต่อมาครอบครัวมีปัญหา สุดท้ายฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องสะเทือนใจมาก ดังนั้น บ้านเมืองไม่มีวันไปดี หากนักการเมืองทุจริตโกงกิน"