"นายกฯ" เตรียมลงพื้นที่ จ.สิงห์บุรี 6 ม.ค. นี้ เปิดงาน "ข้าวรักษ์โลก" ต่อยอดนโยบาย BCG Model ส่งเสริมการทำนาสู่ความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพข้าวไทยออกสู่เวทีโลก
วันที่ 5 ม.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดสิงห์บุรี ในวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการ ซึ่งมีกำหนดการ ดังนี้
เวลาประมาณ 08.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ไปยังสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยเฮลิคอปเตอร์
โดยในเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินทางจากสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ไปยังพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ จากนั้นจะออกเดินทางจากพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล เดินทางต่อไปยังพื้นที่นานำร่อง หมู่ที่ 1 ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อเป็นประธานเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก”
ในเวลาประมาณ 09.30 น. นายกรัฐมนตรีจะขับรถดำนาปลูกข้าว ร่วมกับชาวนา พร้อมกับปล่อยปลา ร่วมกับเกษตรกร ก่อนไปยังจุดพิธีเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก”
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (สิงห์บุรีโมเดล) จากนายภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” พบปะเกษตรกร และเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 14.00 น. ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
“สำหรับโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model เป็นผลงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ชาวนาทำการปฏิบัติการทำนาใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรเท่านั้น ทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ เพิ่มธาตุสารอาหารที่สำคัญให้กับพืช และยังส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบหมุนเวียนทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ การส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างแปลงเพาะปลูกในระบบ ทำการจับคู่ตามความต้องการเพิ่มโอกาสเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จากการส่งเสริมโครงการดังกล่าวทำให้ได้ผลผลิตข้าวดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการส่งเสริมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามนโยบาย BCG Model ที่ต้องการช่วยเหลือส่งเสริมการทำนาสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล ในการยกระดับคุณภาพข้าวไทยออกสู่เวทีโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตข้าวที่มีคุณภาพต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเกษตรของโลกในรูปแบบ BCG” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว