เจอพิษโควิด!ช่างแอร์ทำห้างอาศัยอยู่บนต้นไม้นาน 3 ปี หลังตกงานไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน
จากกรณีนายเพชรสยาม เจนหัตนามเสนา หรือครูหน่องประทีปแห่งที่ราบสูง และ จิตอาสา ได้โพสต์ภาพนายชาลี ไปสร้างบ้านอาศัยอยู่บนต้นไม้ พร้อมเขียนข้อความว่า #ชาลี # คนตกงาน# คนไร้บ้าน #ทาร์ซาน # แห่งกลางใจเมืองอุดรฯ ซึ่งอาศัยอยู่บนต้นไม้ ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เพราะเจอพิษเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน ต้องไปสร้างห้างอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง 10 เมตร
ต่อมา เวลา 10.30 น. วันที่ 7 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่พื้นที่ป่า หลังชุมชนแวร์ซาย เขตเทศบาลนครอุดรธานี พบนายชาลี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ชาวตำบลบ้านขาม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ทาร์ซานในเมือง กำลังกวาดใบไม้ทำความสะดาดพื้นให้สะอาด และสร้างห้างบนต้นอะราง โดยมีเถาวัลย์ขนาดใหญ่เลื้อยพันต้นอะราง เป็นบันขึ้นไปบนห้างสูงจากพื้นประมาณ 10 เมตร ซึ่งใช้เศษไม้ปูพื้นบนกิ่งไม้ มุงด้วยป้ายไวนิลและผ้าใบกันแดดและฝน ภายในมีที่นอน หมอน มุ้ง และแขวนเสื้อผ้าไว้บนกิ่งไม้
นายชาลี เล่าว่า ตนเป็นชาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ยังไม่มีครอบครัว ทำงานเป็นช่างแอร์ ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 7 ปีก่อนได้ย้ายมาทำงานที่ จ.อุดรธานี และเช่าห้องแถวอยู่ชุมชนแวร์ซาย เขตเทศบาลนครอุดรธานี เดือนละ 1,200 บาท ระยะแรกไม่มีปัญหา ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพและจ่ายค่าเช่าห้องพักได้ตามปกติ แต่หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่มีงานทำ รายได้ไม่มี จึงไม่มีเงิน ค้างค่าห้องเช่า 3 เดือน ตนรู้สึกเกรงใจเจ้าของห้องเช่า จึงย้ายออกมาอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่าห่างจากห้องเช่าประมาณ 50 เมตร
นายชาลี เล่าต่อว่า เมื่อตกงานก็ได้ออกไปหารับจ้างทั่วไป พอได้เงินมาซื้ออาหารกินประทังชีวิต และนำเงินไปใช้หนี้ค่าห้องเช่า 3000 บาท ส่วนสาเหตุที่ต้องทำห้างอาศัยอยู่บนต้นไม้ ไม่ทำบ้านอยู่พื้นดิน ก็เพราะเป็นกฎและหลักการดำรงชีวิตอยู่ในป่า เพราะจะปลอดภัยจากสัตว์ป่า และสัตว์มีพิษ ไม่มีการประกอบอาหาร ส่วนการอาบน้ำชำระล้างร่างกายจะไปขอน้ำกินและน้ำอาบจากเพื่อนบ้านที่อยู่ห้องเช่า การขับถ่ายก็เข้าไปขุดหลุมในป่า เสร็จแล้วก็กลบดิน ไม่ให้เดือดร้อนคนอื่น
"สร้างบ้านอาศัยอยู่บนต้นไม้มา 3 ปี แต่ไม่รู้จักเจ้าของที่ดิน แต่จะมีคนงานเจ้าของที่ดินมาทำความสะอาด ตนก็คิดว่าคนงานจะไปเล่าให้เจ้าของที่ดินฟัง หรืออาจจะมาแอบดูตนก็ได้ ซึ่งตนก็ไม่ได้สร้างบ้านถาวร แต่สร้างห้างอาศัยบนต้นไม้แบบสมถะ หากเจ้าของที่ดินไม่มาไล่ตน ก็จะอาศัยอยู่บนต้นไม้ไปเรื่อยๆ หากเศรษฐกิจดีขึ้น มีงานให้ทำ มีรายได้ ตนก็จะย้ายออกจากป่าไปเช่าบ้านอยู่ ส่วนสาเหตุที่ตนไม่กลับไปบ้าน เพราะตนออกจากบ้านมาหาเงิน หากไม่มีเงินกลับบ้านก็จะถูกชาวบ้านนินทา และไม่อยากเป็นภาระของญาติพี่น้อง ซึ่งตนก็เคยกลับไปบ้านเพื่อทำบัตรประชาชน และก็กลับมาอยู่บ้านต้นไม้เหมือนเดิม" นายชาลี กล่าว
นางรัมลดา อายุ 52 ปี เพื่อนบ้าน เล่าว่า นายชาลีเป็นช่างแอร์ มาเช่าห้องอยู่ที่เดียวกันกับตน เป็นคนนิสัยดี ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่ช่วงโควิดระบาดทำให้ตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า จึงมาสร้างบ้านอาศัยอยู่บนต้นไม้ เพราะเป็นคนชอบสันโดษ อยู่บนต้นไม้แล้วสบายใจ ซึ่งตนก็จะคอยช่วยเหลือ ให้น้ำอาบ และน้ำดื่ม วันไหนไม่มีเงินนายชาลีก็เดินไปขอข้าวที่วัดมากินประทังชีวิต