เกษตรกรชาวไร่อ้อยโคราช โอดตัดอ้อยสดต้นทุนค่าแรงสูงกว่าอ้อยเผา 3 เท่า วอนรัฐช่วยทำให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยเผา เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ชาวไร่อ้อยงดเผามากกว่านี้
วันที่ 11 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ต่างพากันเร่งตัดอ้อยกันอย่างคึกคัก เพื่อส่งโรงงานน้ำตาล เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่โรงงานน้ำตาลหลายแห่งเปิดหีบอ้อย ตามฤดูกาล แม้ว่าชาวไร่อ้อยหลายพื้นที่ จะมีการลักลอบทำการเผาใบอ้อยเพื่อให้สะดวกต่อการตัดอ้อย และลดต้นทุนการตัดอ้อย ซึ่งสร้างมลภาวะพิษให้เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เกษตรกรบางรายก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ที่มีการขอความร่วมมือในการหยุดเผาอ้อย แม้ว่าต้นทุนการตัดอ้อยสดจะสูงกว่าการตัดอ้อยเผาก็ตาม
ทางด้านนายชนะ บุณยสุพร อายุ 60 ปี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย บ้านหนองกราด ต.ช้างทอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ได้จ้างชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน จำนวน 9 คน มาตัดอ้อยสดในไร่ที่ปลูกไว้กว่า 20 ไร่ ซึ่งกำลังโตได้ที่ เพื่อที่จะนำไปส่งให้โรงงานน้ำตาลที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
โดยนายชนะ เล่าว่า ทางราชการได้มีการขอความร่วมมือไม่ให้ชาวไร้อ้อย เผาอ้อยในช่วงนี้ เพื่อลดควันและค่าฝุ่นละออง รวมทั้งเศษถ่านใบอ้อยไปตกลงตามชุมชน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านผู้อยู่อาศัย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ก็ยังมีเกษตรกรหลายคนเผาอ้อยอยู่ เพราะจะทำให้การตัดอ้อยสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนค่าแรงได้มากกว่าการตัดอ้อยสด ซึ่งตนเองก็ให้ความร่วมมือกับทางราชการ แม้ว่าจะต้องทนแบกรับภาระต้นทุนที่สูงกว่า
และในวันนี้ได้จ้างชาวบ้านมาช่วยตัด คิดค่าแรงวันละ 250 บาทต่อคน ปัญหาคือตัดอ้อยได้ช้ามาก ถ้าเป็นอ้อยเผาคนงาน 9 คน พื้นที่ 4 ไร่ จะใช้เวลาแค่ 1 วัน แต่ถ้าเป็นอ้อยสดพื้นที่ 4 ไร่ ต้องใช้เวลาถึง 3 วัน ดังนั้นต้นทุนค่าแรงจึงเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว กำไรลดลงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งต้องเสียเวลามากกว่าด้วย จึงทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหลายคน เลือกที่จะเผาอ้อยก่อนตัด ถ้ารัฐบาลอยากจะลดการเผาอ้อย มีทางเดียวคือต้องทำให้ราคาอ้อยสดกับอ้อยเผา มีความแตกต่างกันมาก ๆ เพราะตอนนี้ราคาอ้อยสดเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 1,100 บาท ส่วนอ้อยเผาก็ไม่แตกต่างกันนัก ถ้าทำให้ราคาอ้อยสดสูงขึ้นกว่าอ้อยเผา ก็จะเป็นแรงจูงใจทำให้เกษตรกรหันมาตัดอ้อยสดกันเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบันแน่นอน