มูลนิธิ SWING ร่อนแถลงการณ์จี้ สธ. ทบทวนจัดบริการจ่ายยา "เพร็พ" ยันต้องอนุญาตให้อาสาสมัครเอ็นจีโอ บริการควบคู่ได้ ชี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานป้องกันเชื้อ HIV ละเลย ปชช. 6 แสนคน เดือดร้อน

จากกรณีข้อกังวลของภาคเครือข่ายและภาคประชาสังคม เกี่ยวกับประเด็นการจ่ายยาเพร็พ (PrEP: ยป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี) และ ยาเป๊ป (PEP: ยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อเอชไอวี) ตามประเด็นหนังสือชี้แจงแนวทางการจัดบริการ PrEP โดยความร่วมมือขององค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้นโยบายการยุติปัญหาเอดส์ ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2565 ว่าจะไม่มีการจ่ายยาทั้งสองชนิดผ่านภาคเครือข่ายและภาคประชาสังคม ซึ่งล่าสุด นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันรัฐยังสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในการจ่ายยา “เพร็พ” ในองค์กรตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข

น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ออกแถลงการณ์ในนาม SWING ว่า ด้วยประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่กำหนดให้งบประมาณ “การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี” ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เท่านั้น ได้ส่งผลให้ประชาชนผู้ที่มีสิทธิการรักษาอื่น ๆ นอกสิทธิ สปสช. ไม่สามารถเข้ารับบริการป้องกันเอชไอวี ซึ่งรวมถึง การตรวจเอชไอวีโดยสมัครใจ บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส (Pre-Exposure Prophylaxis, PrEP) บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัส (Post-Exposure Prophylaxis, PEP) และบริการถุงยางอนามัย ภายใต้ระบบ สปสช. ได้ โดยต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิของตนเท่านั้น ได้ส่งผลให้


1.ประชาชนผู้ที่มีสิทธิการรักษาอื่น ๆ นอกสิทธิ สปสช. ไม่สามารถเข้ารับบริการป้องกันเอชไอวี ซึ่งรวมถึง ผู้ที่ตรวจเอชไอวีโดยสมัครใจ 402,191 คน (ร้อยละ 30 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ)


2. ผู้ที่รับบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส (Pre-Exposure Prophylaxis, PrEP) 8,631 คน (ร้อยละ 60 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ)


3.ผู้ที่รับบริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัส (Post-Exposure Prophylaxis, PEP) 2,581 คน (ร้อยละ 50 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ)


4. ผู้ที่รับบริการถุงยางอนามัยจำนวน 252,039คน (ร้อยละ 30 ของผู้รับบริการทั้งหมดในประเทศ)
ต้องไปรับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิของตนเท่านั้น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของการเข้ารับบริการสุขภาพของประชาชน และจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของการรับเชื้อเอชไอวี

นอกจากนั้น ในวันที่ 23 ธันวาคม 2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือถึงองค์กรภาคประชาสังคม เรื่อง : แนวทางการจัดบริการเพร็พในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ที่กำหนดให้เมื่อผู้รับบริการได้เข้ารับบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีที่คลีนิกเทคนิคการแพทย์ของภาคประชาสังคมแล้ว หลังจากนั้นต้องส่งผลตรวจไปให้สถานพยาบาลของรัฐเพื่อตรวจวิเคราะห์และสั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และจ่ายยาโดยเภสัชกรในสถานพยาบาลของรัฐที่เป็นที่จัดเก็บยาเพร็พ
ภายใต้แนวทางการจัดบริการเพร็พนี้ ส่งผลให้หน่วยบริการของภาคประชาสังคมที่มีอาสาสมัครซึ่งได้ผ่านการอบรมและรับรองสมรรถนะให้เป็นผู้จัดบริการ ไม่สามารถจัดบริการยาเพร็พและให้บริการยาเพร็พได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการของหน่วยบริการภาคประชาสังคมคิดเป็นจำนวนร้อยละ 60 ของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงบริการการป้องกันด้วยยาเพร็พได้ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของประชาชน และทำให้ประชาชนที่กำลังรับบริการเพร็พได้รับผลกระทบ และมีโอกาสเสี่ยงต่อติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น

ทั้งสองกรณีข้างต้น เป็นการดำเนินการภายใต้การสั่งการและกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลกระทบให้ประชาชนจำนวนมากกว่า 600,000 คน ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทย จึงนับเป็นการละเมิดต่อสิทธิของประชาชน ในการนี้เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ร่วมดำเนินงานด้านเอชไอวีเพื่อเป้าหมายการยุติเอดส์ของประเทศ จึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การดำเนินงานด้านเอชไอวีเป็นไปตามแนวนโยบายการยุติเอดส์ของประเทศภายในปี 2573 ดังต่อไปนี้

1. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องทบทวนแก้ไขประกาศหลักเกณฑ์การบริหารจัดการกองทุน สปสช. ปี 2566 เพื่อให้งบประมาณของกองทุน สปสช. สำหรับการจัดบริการด้านเอชไอวี ครอบคลุมประชาชนทุกคนในผืนแผ่นดินไทย


2.กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องทบทวนแก้ไขประกาศแนวทางการจัดบริการเพร็พโดยอนุญาตให้อาสาสมัครองค์กรภาคประชาสังคมที่ผ่านการอบรม สามารถจัดบริการเพร็พร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน หรือหน่วยบริการในพื้นที่ และอนุญาตให้หน่วยบริการของภาคประชาสังคมสามรถจัดเก็บยาเพร็พได้


3. กำหนดแนวทางการให้บริการจ่ายยาเพร็พแก่ผู้รับบริการในคลินิกเทคนิคการแทพย์ (ตามความข้อ 2) สามารถดำเนินการร่วมกับวิชาชีพเภสัชกรรมตามกฎหมายวิชาชีพเภสัชกรรม และวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายวิชาชีพเวชกรรม ผ่านวิธี Telemedicine


4. กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการบูรณาการ 3 กองทุน ได้แก่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ รวมเป็นกองทุนเดียว เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิบริการป้องกันเอชไอวี ได้ทุกสถานพยาบาล และไร้อุปสรรค

ทั้งนี้ ขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโปรดพิจารณาโดยเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาวะและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป