"สุทิน" มอง "ธรรมนัส" กราบ "บิ๊กป้อม" เป็นเรื่องในครอบครัว ต้องกลับมารวมกันสู้วิกฤต ยิ้มให้กำลังใจ จี้ รบ. อย่าเตะถ่วงอภิปราย 152 ชี้ สัญญาณยุบสภาแรง

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า  ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทยให้การต้อนรับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดพะเยา โดยช่วงหนึ่งร้อยเอกธรรมนัสได้คุกเข่าพร้อมมอบพวงมาลัยให้พลเอกประวิตรบนเวที ซึ่งมีแนวโน้มจะกลับมาพรรคพลังประชารัฐ จะกระทบต่อการสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ โดยมองเป็นเรื่องในครอบครัว เพราะพลเอกประวิตร และร้อยเอกธรรมนัสถือเป็นคุ้นเคยกัน แม้จะแยกกันในบางครั้งด้วยเหตุใดก็แล้วแต่แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก พร้อมมองไม่กระทบกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง เพราะเราเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ และยังเชื่อว่าผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทย จะน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

 

ส่วนการกลับมายังพรรคพลังประชารัฐของร้อยเอกธรรมนัสนั้น เสมือนการไม่มีทางไปหรือไม่ นายสุทิน ย้ำว่าเป็นเรื่องในครอบครัวเมื่อเจอวิกฤตจะต้องรวมพลังกัน ฝ่าให้พ้นวิกฤต ลำบากก็ต้องมาคุยกัน ก่อนยิ้มและพูดว่า “ตนก็ให้กำลังใจ”

 

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะชิงยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไป ม.152 ซึ่งก่อนหน้านี้หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว มองรัฐบาลถือฤกษ์ดี 3 วันเพื่อยุบสภา นายสุทิน กล่าวว่าตนไม่รู้ หัวหน้าพรรคอาจมีข้อมูลว่ามีคนแอบไปดูหมอ แต่ถามว่าจะยุบสภาเพื่อหนีการอภิปรายหรือไม่นั้น ก็มีสิ่งบอกเหตุให้ชวนคิดว่า เมื่อยื่นอภิปรายไปแล้วจะใช้ระยะเวลาไม่นาน เพียง 1-2 สัปดาห์ ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวัน แต่ครั้งนี้ยืดยาวกว่าปกติ

 

อีกทั้งหากเป็นรัฐบาลคงไม่อยากให้มีใครมาอภิปรายช่วงใกล้เลือกตั้ง เพราะจะเสียเปรียบ เว้นแต่จะมีการดึงเพื่อไม่ให้มีการอภิปราย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด แต่ส่วนตัวเชื่อว่าแม้จะยุบหนีอภิปรายก็คงไม่พ้น เพราะต้องบอกสิ่งเหล่านี้กับประชาชน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

 

นายสุทิน ยังกล่าวว่าในวันนี้ 25 มกราคมนี้ จะมีการประชุมวิปสองฝ่ายเพื่อกำหนดวันและกรอบเวลาอภิปราย และคาดว่าจะมีการอภิปรายหลังวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งใกล้หมดอายุสภา ซึ่งเห็นว่าช่วงนี้รัฐบาลไม่มีงานหรือภารกิจอะไรหนาแน่น โดยประธานสภา นายชวน หลีกภัยเอง ก็ได้ยื่นข้อท้วงติงว่าระยะเวลานานเกินไป พร้อมย้ำเรื่องกรอบเวลาของฝ่ายค้านควรมากกว่า 22 ชม. หรือ 3 วัน เพราะถือเป็นการสรุปรวบยอด 3 ปี ส่วนเนื้อหาอภิปรายรวมถึงผู้อภิปรายคืบหน้า 80% และมีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม ก่อนยืนยันพร้อมอภิปรายได้ทันที ทั้งนี้การอภิปรายรอบนี้ยังคงพุ่งเป้าไปที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ซึ่งใครเสนอนโยบายอะไรไว้ คงต้องชี้แจง