นักท่องเที่ยวแชร์ภาพป้ายบริเวณน้ำตกเอราวัณ โดยชื่อและข้อมูลระบุว่าเป็น "งูเขียวหัวจิ้งจก หรือ งูเขียวปากจิ้งจก" มีพิษอ่อนมาก แต่ในภาพกลับเป็น "งูเขียวหางไหม้" หวั่นคนเข้าใจผิด ถูกกัดอาจเป็นอันตราย

วันที่ 18 ม.ค. 2566 โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพในเพจ "งูไทย...อะไรก็ได้ all about Thailand snakes" โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ภาพป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับงู ในพื้นที่น้ำตกเอราวัณ ซึ่งข้อมูลระบุว่า
"งูเขียวหัวจิ้งจก หรือ งูเขียวปากจิ้งจก (Oriental whipsnake) เป็นงูที่มีพิษอ่อนมากชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ahaetulla prasina ในวงศ์ Colubridae มีลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวหลิว ปลายปากแหลม ขนาดเมื่อโตเต็มที่ได้ถึง 2 เมตร พื้นลำตัวโดยมากเป็นสีเขียว มักจะมีเส้นสีขาวข้างลำตัวบริเวณแนวต่อระหว่างเกล็ดตัวกับเกล็ดท้อง เส้นขาวยาวตั้งแต่บริเวณคอ จนถึงโคนหาง ท้องขาวส่วนหางตั้งแต่โคนหางถึงกลายหางจะมีสีน้ำตาล หรือสีชมพู ตาจะมีขนาดใหญ่ ม่านตาอยู่ในแนวนอน อาศัยอยู่ตามต้นไม้ มีพิษอ่อนมาก โดยพิษจะสามารถทำอันตรายได้เฉพาะสัตว์เล็กที่เป็นอาหาร เช่น จิ้งจก, กิ้งก่า, นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัว ระยะเวลาตั้งท้อง 4 เดือน ออกลูกได้ครั้งละ 6-10 ตัว จะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝน พบได้ทุกภาคของประเทศ และป่าทุกประเภท"

แต่ส่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ ภาพประกอบของงู ซึ่งไม่ใช่งูเขียวปากจิ้งจก แต่กลับเป็นงูเขียวหางไหม้ ซึ่งแม้จะจัดเป็นงูพิษอ่อน ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่พิษส่งผลต่อระบบเลือดและมีอันตรายมากกว่า จึงอาจทำให้ผู้พบเห็นหรือถูกงูกัดเข้าใจผิดและเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกราย มาแสดงความเห็นว่า ป้ายดังกล่าวผิดมาตั้งนานแล้ว โดยเคยมีการโพสต์เรื่องเดียวกันนี้ตั้งแต่เดือนวันที่ 23 ต.ค. 2021 แต่ทางอุทยานฯ ก็ยังไม่เปลี่ยนรูปของป้ายดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ได้มีการแท็กโพสต์ดังกล่าวไปยังกรมอุทยานฯ เพื่อให้แก้ไขหรือชี้แจงเรื่องดังกล่าวด้วย