อ.วิศวะ จุฬาฯ เตือน ตรุษจีนนี้เสี่ยงมะเร็งจากธูปเทียนไหว้เจ้า การจุดธูปเพิ่มฝุ่น 2-10 เท่าของฝุ่นที่มีอยู่แล้วตามอากาศ
วันที่ 19 ม.ค. 2566 รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการจัดการคุณภาพอากาศประเทศไทย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติฝุ่น PM 2.5 อยู่นั้น การจุดธูปเทียนและประทัด รวมถึงการเผากระดาษเงินกระดาษทองในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้เป็นส่วนเสริมให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือผลกระทบด้านสุขภาพของผู้ที่จุดธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะผู้ที่จุดธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง
จากข้อมูลตามหลักวิชาการพบว่า สัดส่วนการกระจายขนาดของอนุภาคที่เกิดจากควันธูปนั้น จำนวนอนุภาคร้อยละ 80 นั้นมีขนาดเล็กกว่า 0.1 ไมครอน ดังนั้นคงไม่ต้องจินตนาการเลยว่า ความเสี่ยงของการสูดดมมลพิษที่ปนอยู่ในควันธูปนั้น อันตรายร้ายแรงเกินกว่าที่เรายังสาละวนกับขนาดอนุภาค 2.5 ไมครอน
สำหรับความเข้มข้นของอนุภาคขนาด 2.5 ไมครอนที่พบจากการจุดธูปนั้น เพิ่มขึ้น 2-10 เท่าของฝุ่นที่มีอยู่แล้วตามอากาศ ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมของสถานที่ที่ทำการจุดธูป ทำให้ผู้ที่จุดธูปไหว้บรรพบุรุษอยู่ในขณะนั้นจะได้รับผลกระทบโดยตรง
ที่สำคัญมลพิษจากควันธูปเทียน ประทัด และเผากระดาษเงินกระดาษทองในช่วงเทศกาลตรุษจีน เช่น เบนซีน บิวทาไดอีน เบนโซเอไพรีน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโพลีไซคลิกอะโรมาติกส์ไฮโดรคาร์บอน ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สารโลหะหนักที่พบในขี้เถ้าธูป และขี้เถ้ากระดาษเงินกระดาษทอง เช่น โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส เหล่านี้ทำให้ผู้รับสัมผัสมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
รศ. ดร.ศิริมา จึงแนะนำว่า ลดการจุดธูปเทียนในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือใช้ธูปเทียนไฟฟ้า ใช้ธูปไร้ควัน หรือธูปขนาดสั้นเพื่อลดการเกิดควัน เพื่อลดความเสี่ยงกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของผู้จุด รวมถึงยังลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนเหล่านี้ได้อีกด้วย และอย่าลืมว่าภายหลังการสัมผัสควันธูปควรล้างมือ ล้างหน้า ล้างตาให้สะอาด