ผบ.ตร. สั่งสอบด่วนคลิปไวรัล นทท.จีน จ้าง ตม. ขับรถนำขบวนพร้อมเปิดไฟฉุกเฉิน ทำสาวจีนอึ้งสะดวกสบายสุด ๆ ไม่ต้องฝ่ารถติด สมคำร่ำลือจริง ๆ
วันที่ 21 ม.ค.66 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณี คลิป "ตำรวจไทย" ที่กำลังเป็นไวรัลในประเทศจีน โดยกล่าวถึง "สาวจีน" ทดสอบใช้บริการ "ตำรวจไทย" ว่าใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่ โดยทำเอาเธออึ้งไปเลย เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยอำนวยความสะดวกตั้งแต่ทางออก หลังจากลงจากเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉิน โดยค่าบริการรถจักรยานยนต์ 6,000 บาท รถเก๋ง 7,000 บาท ถึงที่พักสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องฝ่ารถติด สมคำร่ำลือจริงๆ!
โดย พล.ต.ต.อาชยน กล่าวว่า "กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ได้รับทราบเรื่องแล้ว เห็นว่ากระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร จึงสั่งการด่วนให้จเรตำรวจไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าบุคคลปรากฏตามคลิปตั้งแต่สนามบินถึงการนำขบวน เป็นข้าราชการตำรวจจริงหรือไม่ ทำไมถึงมีการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว กระทำโดยชอบตามกฎหมายและระเบียบหรือไม่ แล้วพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่เสนอ ผบ.ตร.ให้ทราบโดยเร็ว
ทั้งนี้ โฆษกตำรวจกล่าวเพิ่มเติมว่า "จากที่ปรากฏตามคลิปการอำนวยความสะดวกในขั้นตอนของตรวจคนเข้าเมือง ไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนการนำขบวนนั้น ตำรวจได้มีการกำชับสั่งการปฏิบัติมาโดยตลอด ทั้งการดำเนินการตามกฎหมายจราจร และการดำเนินการตามมติ ครม. ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0205/ว189 ลง 2 ต.ค. 2545 แจ้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2544 เห็นชอบหลักเกณฑ์การใช้รถนำขบวนของตำรวจบุคคลสำคัญหรือนักการเมือง หรือการใช้รถนำขบวนรับรองแขกต่างประเทศในการเยือนประเทศไทยไว้ชัดเจน
ส่วนกรณีอื่นทั่ว ๆ ไป จะมีการนำขบวนได้นั้น ในเขต กทม. ให้ ผบก.จร. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต นอกเขต กทม. ให้ ผบก.ทล. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต โดยต้องพิจารณาถึงความจำเป็นที่ต้องใช้รถตำรวจนำขบวน เพื่อความปลอดภัยของขบวน หรือความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนตามความจำเป็นแก่กรณี เช่น รถนักเรียน ขบวนรถซึ่งเดินทางไปประกอบศาสนกิจหรือพิธีการต่าง ๆ หรือเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนของบุคคลผู้มีตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในทางราชการ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติภารกิจสำคัญของทางราชการเท่านั้น
การขออนุญาตใช้รถตำรวจนำขบวน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มิใช่ให้ใครก็ได้ใช้สิทธิพิเศษเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อความปลอดภัยบนท้องถนนแล้ว อาจสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชนได้
ดังนั้นหากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการพิจารณาลงโทษตามอำนาจหน้าที่ต่อไป”