จ.น่าน ติดตั้งป้ายแปลกตา แต่บอกเส้นทางจริงตามลักษณะโค้ง แห่งแรกในไทย ชาวเน็ตแห่ตั้งชื่อแปลก "โค้งจอดอ้วก" "โค้งไส้ติ่ง"
วันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ทางหลวงชนบท สายแยก ทล.1091-โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ป่าไม้ห้วยลู่ ตามพระราชดำริฯ ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ระยะทาง 10.805 กิโลเมตร มีการติดตั้งป้ายสัญญาณจราจร มีคนถ่ายรูปนำไปลงในสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ทำเอาหลายคนงง เมื่อเจอป้ายเตือนลักษณะแปลกตาจากที่เคยเห็นมา โดยในโลกโซเชียลมีการตั้งชื่อป้ายกันอย่างคึกคัก อาทิ โค้งตัวหนอน โค้งงู โค้งจอดอ้วก โค้งไส้ติ่ง
โครงการดังกล่าว มีสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 เชียงราย เป็นเจ้าของโครงการ วงเงินงบประมาณ 6,1445,000 บาท โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 6,0595,000 บาท และประมูลโครงการโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่งจากจังหวัดขอนแก่น ในราคา 6,0566,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 29,000 บาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 กำหนดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565
นายธงไชย ชมถนอม ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงชนบทที่ 17 ซึ่งสำนักฯ เป็นเจ้าของโครงการ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ป้ายดังกล่าวสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ออกแบบ ทางสำนักทางหลวงชนบทที่ 17 เป็นเพียงผู้ดำเนินการสรรหาผู้รับจ้างมาทำ โดยจากความเข้าใจ คนออกแบบคงอยากให้ผู้สัญจรทราบว่าทางข้างหน้ามีลักษณะอย่างไรตามสภาพถนนจริง โดยป้ายจะทำการออกแบบจากแบบที่ทำการก่อสร้างเฉพาะพื้นที่ ที่เป็นภูเขามีโค้งซับซ้อนซึ่งอาจจะแปลกตาบ้าง เนื่องจากมีการติดตั้งในพื้นที่ดังกล่าวเป็นแห่งแรกในพื้นที่สำนัก 17 และในไทย จำนวน 60 ป้าย และแห่งที่ 2 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันยังมีติดตั้งเพียง 2 ที่ จำนวน 90 ป้าย
เมื่อสอบถามถึงราคาในการผลิตป้าย แบบ ต.มาตฐาน กับ ต.พิเศษ ว่าราคาแตกต่างกันหรือไม่ ผู้อำนวยการสำนักฯ ตอบว่า ราคาเท่ากัน ผู้สื่อข่าวจึงตรวจสอบในใบปริมาณงานพบว่า ราคาป้ายสัญญาณตามแบบมาตรฐาน ราคาตกอยู่ป้ายละ 2,000 - 4,000 กว่าบาท ส่วนป้ายแบบพิเศษราคาตกอยู่ป้ายละ 7,000 กว่าบาท
ที่ผ่านมา จังหวัดน่านเกิดดราม่าเรื่องถนนมาหลายครั้งกับการนำสิ่งแปลกใหม่มาติดตั้งในพื้นที่ โดยขาดการประชาสัมพันธ์ชี้แจงก่อนเริ่มทำ ครั้งก่อนก็เป็นเสาหลักยางพารา ครั้งนี้ก็เป็นเรื่องป้ายเตือนบอกทาง