ทำความรู้จัก "มะเร็งหัวใจ" โรคที่พบได้น้อยมากเพียงประมาณ 0.1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย

มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer หรือ Heart cancer) คือ โรคเกิดจากเซลล์ /เนื้อเยื่อหัวใจ ตำแหน่งใดของหัวใจก็ได้ เกิดกลายพันธุ์ มีการเจริญเติบโต แบ่งตัว รวดเร็ว ทวีจำนวนเกินปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็งขึ้นที่หัวใจ ซึ่งเซลล์มะเร็งนี้จะรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อปกติของหัวใจ เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ลุกลามทำลายต่อมน้ำเหลืองใกล้หัวใจ และในที่สุดแพร่กระจายไปทำลายอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ไปสู่ ปอด และสมอง

มะเร็งหัวใจ พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ แต่พบได้น้อยมากๆ โดยชนิดพบบ่อย พบได้เพียงประมาณ 0.1 รายต่อประชากร 1 ล้านคน พบในทุกอายุ แต่พบน้อยมากในเด็ก ส่วนใหญ่พบในวัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ หญิงและชายพบได้ใกล้เคียงกัน

รายงานสถิติผู้ป่วยมะเร็งของไทยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยเป็นผู้ป่วยในช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 รายงาน ไม่พบโรคนี้ในคนไทย

การวินิจฉัยมะเร็งหัวใจ
ตรวจ echocardiography เป็นการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมาก เพราะเห็นตำแหน่งก้อนเนื้องอกชัดเจน เห็นว่าก้อนลุกลามถึงลิ้นหัวใจ หลอดเลือดแดงหัวใจหรือไม่ มีเลือดออกในช่องเยื่อบุหัวใจหรือไม่ ช่วยในการวางแผนผ่าตัดได้ดี การตรวจด้วย Cardiac CT และ Cardiac MRI สามารถใช้เป็นการตรวจวินิจฉัยและดูการลุกลามของโรคว่าได้ลุกลามไปส่วนอื่นหรือไม่

อาการของโรคมะเร็งหัวใจ จะมีอาการได้ดังนี้
- หน้าบวม
- คอบวม
- หลอดเลือดดำที่คอโป่ง
- ตับโต
- ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง
- ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง
- มีอาการเหนื่อยหอบ
- ผอมลงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ

จัดระยะโรคของมะเร็งหัวใจอย่างไร?

เนื่องด้วยมะเร็งหัวใจเป็นโรคพบได้น้อยมากๆ ทั่วไปจึงยังไม่มีการจัดระยะโรค แต่แพทย์จะแบ่งระยะโรคตามความรุนแรงทางคลินิก เช่น

- ระยะที่ก้อนเนื้ออยู่เฉพาะที่หัวใจ และสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด
- ระยะที่มะเร็งลุกลามออกนอกหัวใจ แต่ผ่าตัดได้ และ/หรือ ระยะที่โรคผ่าตัดออกได้ไม่หมด
- ระยะที่โรคผ่าตัดไม่ได้
- ระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด และสมอง ที่จะเรียกว่า ระยะที่4 เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆทุกชนิด

รักษามะเร็งหัวใจได้อย่างไร?
การรักษาหลักของมะเร็งหัวใจ คือ การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจโดยตรง(Open heart surgery) หรือด้วยการใช้หุ่นยนต์ หรือ อาจต้องใช้เทคนิคการปลูกถ่ายหัวใจตนเอง(Auto heart transplantation)ที่เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้ผ่าตัดก้อนมะเร็งได้หมดที่สุด โดยการตัดหัวใจออกมา จากนั้นผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจนหมด แล้วจึงปลูกถ่ายหัวใจตนเองนี้กลับเข้าไปใหม่ หลังจากผ่าตัดแล้ว การรักษามักต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดตามชนิดของแต่ละเซลล์มะเร็ง ส่วนรังสีรักษา มักใช้ในกรณีเป็นการรักษามะเร็งหัวใจในระยะที่4 เพื่อบรรเทาอาการจากมะเร็งฯแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ฉายรังสีสมองในกรณีมะเร็งแพร่กระจายมายังสมอง และอีกวิธี คือการใช้ยารักษาตรงเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังไม่มีรายงานการศึกษาพบตัวยาที่มีประสิทธิภาพ

มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหัวใจไหม?
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งหัวใจในระยะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ป้องกันมะเร็งหัวใจได้อย่างไร?
เนื่องจาก มะเร็งหัวใจเป็นมะเร็งยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค


ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์