"พิธา" ซัดแหลก "รัฐบาลประยุทธ์" ผลาญงบเทียบทองคำ 1,000 ล้านแท่ง แนะการเมืองจะดีต้องทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบ เอาทหารออกจากการเมืองและปิดสวิตช์ 3ป. -ตั้ง ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
15 ก.พ. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวระหว่างอภิปรายทั้วไปตามมาตรา 152 ว่าการอภิปรายครั้งนี้แม้สภาจะลงมติไม่ได้ แต่เชื่อว่าประชาชนจะลงมติได้ผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังได้รับทราบข้อมูลของการอภิปรายครั้งนี้ไปประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ตามที่ได้สัญญาไว้ ทั้งการแก้จน-การปฏิรูป-การรักษาความสงบ-และสัญญาว่าขอเวลาอีกไม่นาน
ก่อนจะชี้เวลาบริหารของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็น 1 ทศวรรษที่งบประมาณ-เวลา-และโอกาสของประเทศไทยที่สูญหายไป ด้วยใช้งบประมาณมากถึง 28 ล้านล้านบาท มูลค่าเทียบทองคำ 1,000 ล้านแท่งที่ปูประเทศไทยได้ 2 รอบ แต่เศรษฐกิจของประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 ยังตามประเทศในอาเซียนถอยหลังลงคลอง
ส่วนการสูญเสียเวลา ทั้งในเรื่องการศึกษาที่ไทยย่ำอยู่กับที่และยังรั้งท้ายโลก โดยเฉพาะด้านภาษาอังกฤษ -เสียเวลาเรื่องคอร์รัปชันที่แย่ลง ซึ่ง 8 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยตกอันดับไป 25 อันดับ จากปี 2557 อยู่ที่อันดับที่ 85 และปี 2565 อยู่ในอันดับที่ 110 -ส่วนการเสียเวลาแก้ปัญหาภัยแล้ง พรรคก้าวไกลตั้งคำถามว่า "มีลุง ไม่มีแรงแล้วจริงหรือ" โดยยกข้อมูลแผนที่แล้งซ้ำซากจากปี 2560-2565 พบว่าแล้งซ้ำซากทั่วทุกภาคของประเทศ
นายพิธายังชี้ว่ารัฐบาลเลื่อนลอยที่หมายถึงความสูญหายทางโอกาสในการปฏิรูปที่กระทบต่อประชาชน พร้อมยกตัวอย่าง การเลื่อนการปฏิรูปตำรวจ เช่น กรณีตำรวจเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทาหรือไม่ กรณีตำรวจใช้ทรัพยากรของราชการในการนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน และกรณีตำรวจตั้งด่านตรวจรีดไถนักท่องเที่ยว
ไต้หวัน
นายพิธายังอภิปรายชี้ถึงการลอยตัวเหนือปัญหาปฏิรูปทหาร พร้อมถามถึงสาเหตุเรื่องหลวงสุโขทัยล่มอับปางกลางทะเล ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของทหารชั้นผู้น้อย หรือกรณีที่ผู้บัญชาการทหารอากาศใช้เครื่องบิน F-16 ภารกิจส่วนตัวซึ่งเป็นภาษีของประชาชน รวมถึงกรณีกราดยิงที่โคราชและ เหตุโศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล
นอกจากนี้ยังให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา โดยต้องเริ่มที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง จากปัญหาการเมืองซึ่งเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูกเพื่อให้มีเศรษฐกิจที่ดีและมีอนาคต ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ ถ้าไม่ต้องการให้ประชาชนแก่ก่อนรวย หรือป่วยก่อนตาย คือจะต้องมีรัฐสวัสดิการ เบี้ยคนชรา 3,000 บาท เบี้ยเด็กเล็ก 1,200 บาท หรือเบี้ยสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่จะลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เศรษฐกิจเติบโต
ขณะเดียวกันต้องทลายทุนผูกขาด ผ่านกฎหมายต่างๆเช่น กฎหมายสุราก้าวหน้า และรีดงบกองทัพมาเป็นงบสวัสดิการของประชาชน และชี้ว่าการเมืองและเรื่องปากท้องคือเหรียญสองด้าน ที่เหมือนกัน ซึ่งหากการเมืองจะดีได้ต้องทำให้ประชาธิปไตยเต็มใบ เอาทหารออกจากการเมือง ปิดสวิตช์ 3ป. ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้คือโอกาสที่จะสามารถทำได้ในการตัดวงจรของทศวรรษที่สูญหายให้เป็นทศวรรษที่มีความหวัง
จากนั้นก็แก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระเบิดเวลาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ที่มีการทุกเถียงเรื่องอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งและอำนาจที่มาจากการลากตั้ง หากประเทศไทยไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน ส.ส.ร. จะทำให้การเมืองดีนั้นเป็นไปไม่ได้ และข้อเสนอแนะเพื่อให้การเมืองดีคือการหาฉันทามติใหม่ให้กับความปกติใหม่ของสังคมไทย
นายพิธายังกช่าวถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 กับเยาวชนและประชาชน ว่าไม่ใช่ทางออกของประเทศ แต่เป็นทางตันของประเทศ ซึ่งจะทำให้ปัญหาการเมืองวน ทำให้ความขัดแย้งไม่จบสิ้น แทนที่รัฐบาลจะหาพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย หรือกุศโลบายในการแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลกลับใช้ความรุนแรงทางกฎหมายต่อเยาวชนและคนหนุ่มสาวของประเทศ หากรัฐบาลยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองดีหรือปากท้องดี ในทศวรรษหน้าก็ยังคงเป็นทศวรรษที่สูญหายของประเทศไทย
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า การอภิปรายครั้งนี้สภาลงมติไม่ได้แต่ ในการเลือกตั้ง ครั้งหน้าประชาชนลงมติได้ผ่านการเลือกตั้ง โดยนำข้อมูลการอภิปรายไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษที่รุ่งโรจน์ ทศวรรษที่มีอนาคต และของทศวรรษที่ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม