ตำรวจออกประกาศห้ามยืนบนรถสองแถว ท้ายรถกระบะนั่งได้ไม่เกิน 6 คน และกำหนดมาตรฐานที่นั่งนิรภัยเด็ก

วันนี้ (17 ก.พ.2566) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ.2566 ลงนามโดย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการบรรทุกคนโดยสาร การใช้อัตราความเร็วและการยกเว้นการรัดเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการโดยสาร

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 123/1 แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การยกเว้นให้คนโดยสารไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยในรถบางประเภท พ.ศ.๒๕๖๖”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้
“รถกระบะ” หมายถึง รถบรรทุกตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และให้รวมถึงรถยนต์กระบะสี่ประตู
“รถกึ่งกระบะ” หมายถึง รถกระบะที่มีพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ(Space Cab)

ข้อ 4 ในการใช้รถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถ รถกระบะ รถกึ่งกระบะ หากได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้คนโดยสารที่อยู่ในรถยนต์นั้นนอกจากคนโดยสารที่นั่งแถวตอนหน้า ได้รับยกเว้นไม่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย

4.1 จำนวนการบรรทุกคนโดยสาร
(1) รถนั่งสองแถว รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถให้บรรทุกคนโดยสารในที่นั่งตอนสองแถวได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้สำหรับรถแต่ละประเภทนั้นตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
(2) รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ บรรทุกคนโดยสารในตอนท้ายกระบะได้ไม่เกิน 6 คน
(3) รถกึ่งกระบะ บรรทุกคนโดยสารในตอนพื้นที่ใส่สัมภาระด้านหลังที่นั่งคนขับ (Space Cab) ได้ไม่เกิน 3 คน

4.2 การโดยสารนั้นต้องไม่มีการยืนหรือนั่งโดยสารในลักษณะที่เป็นการเสี่ยงภัยดังนี้
(1) รถนั่งสองแถว และรถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถต้องจัดให้ผู้โดยสารปฏิบัติดังต่อไปนี้ ตลอดการโดยสาร
ก.นั่งโดยสารในที่นั่งที่กำหนดสำหรับรถประเภทนั้น
ข.ห้ามนั่งโดยสารเกินจำนวนที่นั่ง
ค.ห้ามนั่งบนอุปกรณ์ที่เพิ่มเติม นอกเหนือที่นั่งที่กำหนดไว้
ง.ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ
จ.ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร

(2) รถกระบะ และรถกึ่งกระบะ ต้องจัดให้ผู้โดยสารปฏิบัติดังต่อไปนี้ ตลอดการโดยสาร
ก.กรณีนั่งในบริเวณกระบะ ต้องปิดฝากระบะท้าย
ข.ห้ามนั่งริมขอบกระบะ
ค.ห้ามนั่งซ้อนผู้โดยสารอื่น หรือนั่งบนสิ่งของที่บรรทุกในรถ
ง.ห้ามยืนโดยสารไม่ว่าตอนใดของรถ
จ.ไม่ยื่นส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายออกนอกตัวรถในขณะนั่งโดยสาร

4.3 ในขณะที่มีการบรรทุกคนโดยสาร ผู้ขับขี่ต้องใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้
(1) รถนั่งสองแถว ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถบรรทุกคนโดยสารขนาดเล็กที่มีการจัดที่นั่งตามความยาวของรถให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถกระบะและรถกึ่งกระบะ กรณีที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้าย เว้นแต่ ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร หรือจะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก หรือเมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น

ประกาศ ณ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2566
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ