เปิดสภาพ โรงงานลูกชิ้นเถื่อน จ.ปทุมธานี ส่งขายทั่วตลาดนัดกทม. ปริมณฑล กว่า 41 แห่ง และส่งโรงเรียนนานาชาติ 65 กิโลกรัม
18 ก.พ. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงาน กรณีทลายโรงงานลูกชิ้นเถื่อนย่าน ต.คลองหลวง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตรวจยึดอายัดของกลางกว่า 20 รายการ
สืบเนื่องจากมีเด็กจำนวน 6 คน รับประทานไส้กรอกไม่มียี่ห้อ แล้วมีอาหารคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หายใจเร็ว และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. สืบหาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นำไปสู่การร่วมกับ อย. นำกำลังเข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ก่อนยึดอายัดของกลาง 32 รายการ มูลค่า กว่า 700,000 บาท
จากนั้นขยายผลมาตรการเชิงรุก จนพบว่ามีโรงงานผลิตลูกชิ้นเถื่อนแห่งหนึ่ง ย่าน จ.ปทุมธานี มีการลักลอบผลิตลูกชิ้นหมูจำนวนมากในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะแพ็กบรรจุส่งขายตามตลาดนัดใน กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายแห่ง
จากการตรวจค้นโกดังเก่าที่ดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น หมู่ 2 ต.คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบนาย สัมฤทธิ์ (สงวนนามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ ลูกชิ้นยี่ห้อ “จ๊ะเอ๋” โดยได้ตรวจยึดของกลาง ได้แก่ 1.) ผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นบรรจุถุง กว่า 30 ถุง, 2.) เนื้อไก่และเนื้อหมูสดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต, 3.) Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) จำนวน 12 กิโลกรัม, 4.) บรรจุภัณฑ์และส่วนผสมต่างๆ ที่เป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กว่า 20 รายการ รวมถึงได้ปิดโรงงานและอายัดผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น,เนื้อสัตว์ที่กำลังแปรรูป, ส่วนผสมต่างๆ และเครื่องจักรในการผลิต อีก 3 รายการ
นายสัมฤทธ์ฯ รับสารภาพว่า ได้ทำการผลิตลูกชิ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจาก อย.และ สสจ.ปทุมธานี แต่อย่างใด โดยลูกชิ้นหมูยี่ห้อดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร (ไม่ผ่าน อย.) โดยเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ นายสัมฤทธิ์ฯ ซื้อมาจากตลาดนัดทั่วไป ส่วน Sodium benzoate (วัตถุกันเสีย) นั้น ซื้อมาจากร้านค้าแห่งหนึ่งย่านเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากนั้นจะนำส่วนผสมต่างๆ มาผลิตเป็นลูกชิ้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งขายให้ลูกค้าตามตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.ปทุมธานี, จ.นนทบุรี และ สมุทรปราการ กว่า 41 แห่ง โดยรับว่าทำมาแล้วเป็นเวลา 2 ปี โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นวันละประมาณ 300-800 กิโลกรัม
จากการตรวจสอบบัญชีลูกค้าเพิ่มเติมพบหลักฐานบิลใบเสร็จลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการส่งลูกชิ้นไปยัง รร.นานาชาติแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 65 กิโลกรัม โดยในเบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งประสานไปยังโรงเรียนดังกล่าวให้งดการนำลูกชิ้นหมูดังกล่าวมาประกอบอาหารให้กับเด็กนักเรียนแล้ว
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
ฐาน “ผลิตอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหาร โดยสถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP)” ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ฐาน “ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
ทั้งนี้ ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ หาสารบอแรกซ์ ชนิดและปริมาณวัตถุกันเสีย และจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ