บินด่วนชุมพร "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์" ลงพื้นที่ตามความคืบหน้าคดีลูกเรือประมงต่างด้าวถูกรุมปางตาย นายจ้างอ้างทำร้ายเพราะปฏิเสธทำงาน

จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.พ.66 พนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำชุมพร ได้รับแจ้ง จากศูนย์ PIPO ว่ามีลูกเรือประมง ชื่อ นายอาว วิน นายสัญชาติเมียนมา ซึ่งเป็นลูกเรือประมงอยู่กับเรือ ม.โชควาสนานาวี 9 ถูกทำร้ายร่างกายบนเรือประมงและได้ถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเขตอุดมศักดิ์

 

18 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เข้าประชุมร่วมกับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พล.ต.ท.วันไชย เอกพรพิชญ์ จต. (สบ 8) พล.ต.ต.จารุต ศรุตยาพร ผบก.ภ.จว.ชุมพร พร้อมด้วย พม.จังหวัดชุมพร แรงงานจังหวัดชุมพร และNGOs เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน และหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของการดำเนินคดี

 

จากการสืบสวนทราบว่า เรือประมง ม.โชควาสนานาวี 9 มีลูกเรือจำนวน 7 คน เป็นสัญชาติเมียนมาทั้งหมดรวมถึงตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ และมีคนไทย 2 คนเป็นเจ้าของเรือและไต้ก๋ง ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.66 เวลา 13.30 น. ขณะที่เรือจอดอยู่ที่แพโชคทอง นายอาว วิน นาย รู้สึกไม่อยากทำงานต่อ จึงปฏิเสธที่จะลงเรือ ทำให้คนไทยทั้งสองไม่พอใจ และรุมทำร้ายนายอาว วิน นาย จนได้รับบาดเจ็บ และออกเรือไปทำประมงโดยทิ้งผู้เสียหายไว้ ผู้เสียหายจึงขอความช่วยเหลือและรักษาตัวที่ รพ.

 

หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้นำตัวลูกเรือประมงที่เหลืออีก 6 คน เข้ากระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ผลการคัดแยกเหยื่อพบว่า ลูกเรืออีก 6 รายที่เหลือนั้น ไม่เป็นผู้เสียหายในความผิดเรื่องค้ามนุษย์และบังคับใช้แรงงาน แต่พบว่า ลูกเรือทั้ง 6 คน ทำงานในเรือประมงโดยรับค่าจ้างไม่ผ่านบัญชีธนาคาร, จ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง และไม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างตามที่ กฎกระทรวงกำหนดไว้ จึงได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของเรือแล้ว ในส่วนของกรณีนายอาว วิน นาย นั้น อยู่ในระหว่างการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม รวมทั้งนำตัวเจ้าของเรือ และไต้ก๋งมาสอบปากคำเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวมีลูกเรือประมงถูกทำร้ายร่างกายจากนายจ้าง โดยอ้างว่าเกิดจากการปฏิเสธที่จะทำงาน ซึ่งเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ จึงได้สั่งการให้ดำเนินการสืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่สามารถสอบผู้เสียหายโดยละเอียดได้ เนื่องจากยังรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บ แต่ในส่วนของลูกเรือที่เหลือ หลังจากที่นำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อแล้วพบว่า สภาพการทำงานภายในเรือนั้นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งการจ่ายค่าจ้างก็มิได้ดำเนินการตามกฎหมาย จึงสั่งการให้ดำเนินคดีกับนายจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานฯ ต่อไป ในส่วนของการทำร้ายร่างกาย มีลักษณะเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานหรือการค้ามนุษย์ หากพบว่ากระทำผิดจริงจะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด