โฆษกรัฐบาลเผยไตรมาส 4/2565 ไทยขยายตัวดีกว่าคู่ค้าสำคัญ ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำชับเร่งขับเคลื่อนประเด็นเศรษฐกิจไทย คาดปี 2566 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.7
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 ทั้งปี 2565 และแนวโน้มปี 2566 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ซึ่งยังสูงกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ ฯ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ที่มีการขยายในไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ-0.9 ตามลำดับ ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ1.5 ในปี 2564 สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยเป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นฟู ลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งการอุปโภค บริโภคภาคเอกชนและภาคเกษตรที่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.7
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกบริการ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.5 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจร้อยละ 10.3 ด้านการต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 65,814 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ การนำเข้ามีมูลค่า 62,844 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ด้านการผลิต ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 12.8 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาสินค้าสำคัญ เช่น กลุ่มผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน (ร้อยละ 51.5X ข้าวเปลือก (ร้อยละ 27.6) สุกร (ร้อยละ 42.4) ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 16.5 สาขาการก่อสร้าง กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสร้อยละ 2.6 สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 30.6 ในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว จำนวน 5.465 ล้านคน รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 0.425 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 213.9 โดยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น อัตราการว่างานอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ต่ำกว่าร้อยละ 1.23 ในไตรมาสก่อนหน้า
เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนผลผลิตมวลรวมในประเทศต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 248,635.3 บาท/คน/ปี หรือ 7,890.70 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ /คน/ปี เพิ่มขึ้นจาก 231,986.1 บาท/คน/ปี หรือ 7,254.1 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ /คน/ปี ในปี 2564
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 นี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล ให้ความสำคัญการบริหารประเทศในประเด็นเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งหนี้สินและภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้การเกษตร การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ควบคู่ไปกับการเพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระยะปานกลาง และเพิ่มศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และติดตาม เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมทั้งการรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศด้วย