จังหวัดเชียงใหม่พุ่งขึ้นอันดับ 1 ของโลก เมืองที่มีดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI แย่ที่สุด ทางขึ้นดอยสุเทพมองไม่เห็นวิวตัวเมือง

2 มี.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า AirVisual ที่รายงานอันดับดัชนีคุณภาพอากาศเมืองสำคัญทั่วโลก ได้เผยแพร่ตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ในช่วงบ่ายวันนี้ ( 2 มีนาคม) จังหวัดเชียงใหม่มีดัชนีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก เมื่อเวลา 15.00 น. AQI พุ่งสูงกว่า 184 และเวลา 16.00 น. AQI ก็สูงกว่า 180มลพิษจากหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าและการเผาที่ลอยอยู่เหนือท้องฟ้าตัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้บรรยากาศที่จุดชมวิวตัวเมืองบริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาชมวิวไม่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองได้อย่างชัดเจน เพราะมีหมอกควันสีเทาปกคลุมหนาทึบ จนนักท่องเที่ยวหลายคนต้องผิดหวังเพราะไม่สามารถ่ายภาพเมืองเชียงใหม่ได้

 

ขณะที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) รายงานตัวเลขงุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ พีเอ็ม 2.5 วันนี้พบว่ามีค่าระหว่างเฉลี่ยอยู่ที่ 75-151 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ถึง มีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

ส่วนจุดความร้อน หรือ ฮอตสปอตวันนี้พบว่าเกิดขึ้นจำนวน 220 จุด เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย 13 จุด เชียงใหม่ 70 จุด แม่ฮ่องสอน 26 จุด และลำพูน 111 จุด คาดการณ์ว่าวันพรุ่งนี้ฝุ่นละอองจากการเผายังคงสะสมต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพอากาศวันพรุ่งนี้ยังอยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ

 

โดยจุดฮอตสปอตที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ยังอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ตัวอย่างเช่นวันนี้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.16 (ดอยเต่า) รายงานพบจุดฮอตสปอตรอบเช้า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่หาด บริเวณป่าท้องที่บ้านแม่ตูบ หมู่ที่ 9 ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเดินเท้าเข้าไปดับไฟป่า เบื้องต้นสามารถดับไฟและควบคุมไม่ให้ลุกลามได้ อย่างไรก็ตามพบว่ามีพื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 8 ไร่

 

ทั้งนี้สาเหตุที่ยังคงเกิดไฟป่าขึ้นต่อเนื่อง แม้อยู่ในห้วงประกาศห้ามเผาตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2566 คาดการณ์ว่าอาจเกิดจากมีกลุ่มบุคคลเข้าไปหาของป่า เช่น ผักหวาน ไข่มดแดง ตามช่วงฤดูกาลเพื่อนำมาขายที่ตลาดชุมชน ซึ่งผลผลิตจากป่าดังกล่าวมีราคาค่อนข้างแพง เพราะมีออกมาเพียงปีละ 1 ครั้ง จึงทำให้ชาวบ้านยังคงเข้าไปหาของป่าแม้มีประกาศห้าม