"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานพระคติธรรมเนื่องใน "วันมาฆบูชา" 6 มีนาคม 2566 "แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำฉันใด, คนเขลาสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ก็เต็มด้วยบาปฉันนั้น"
เนื่องในวันมาฆบูชา 6 มีนาคม 2566 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม ความว่า
“ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่ารำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งล้วนอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน ๓ อย่างไรก็ดี หากปีใดเป็นปีอธิกมาส วันมาฆบูชาจะตรงกับดิถีเพ็ญเดือน ๔ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้
สารัตถะประการหนึ่งในโอวาทปาติโมกข์นั้นคือ การไม่ทำบาปทั้งปวง อันเป็นหัวใจพระศาสนาประการต้นที่พุทธบริษัททั่วหน้า พึงยึดถือเป็นหลักประพฤติให้ได้ ก่อนจะก้าวไปสู่การบำเพ็ญความดีและการชำระใจให้บริสุทธิ์ บาปทั้งปวงตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ประมวลอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ จำแนกเป็น กายกรรม ๓ กล่าวคือการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม วจีกรรม ๔ กล่าวคือ คำโกหก คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ และ มโนกรรม ๓ กล่าวคือ การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา การคิดปองร้ายผู้อื่น และความเห็นผิด ครั้นเมื่อได้กระทำกรรมใดกรรมหนึ่งในอกุศลกรรมบถ ๑๐ จึงถูกจัดว่าเป็นบาป
พุทธศาสนิกชนจึงมีหน้าที่ลด ละ และเลิกการกระทำบาปทั้งปวงแม้เล็กน้อย ซึ่งล้วนให้ผลเป็นความทุกข์ทำให้จิตใจเสื่อมคุณภาพ ยังอุปนิสัยให้กลายเป็นคนถนัดทำชั่ว จนท่วมท้นไปด้วยบาป ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า
อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ
อาปูรติ พาโล ปาปสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ.
แปลความว่า “แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำฉันใด, คนเขลาสั่งสมบาปแม้ทีละน้อย ๆ ก็เต็มด้วยบาปฉันนั้น.”
ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านพึงขวนขวายบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อันเป็นบุญที่เป็นชื่อของความสุข ขอให้เชื่อมั่นว่าบาปที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลดีไม่ได้ และในขณะเดียวกัน บุญที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลร้ายก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อมั่นใจในหลักของการกระทำแล้ว ย่อมจะมีกำลังใจมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญคุณงามความดีต่อไป ผลแห่งบุญทั้งปวงย่อมจะตามเยียวยาแก้ไขปัญหา พิทักษ์รักษา และดลบันดาลความสุขความเจริญมาสู่ผู้สั่งสมบุญไว้ดีแล้วอย่างแน่แท้
ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.”