"นายกฯ" ห่วงสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ขอพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลให้เด็กบริโภคอาหารถูกหลักโภชนาการ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ ด้วยกิจกรรมออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน
วันที่ 12 มี.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน หลังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบ เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 โดยนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยมายังเด็ก ๆ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดูแลสุขภาพของลูกหลาน ให้รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ เสริมการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะอ้วนโดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนนี้
นายอนุชากล่าวถึงข้อมูลของกรมอนามัย จากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คนดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน รวมทั้งเด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ มีเพียงส่วนน้อยที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ซึ่งสาเหตุภาวะอ้วน ส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง
ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ลดขนมหวาน และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก เน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งควรให้เด็กออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่าง ๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย หรือพ่อแม่ควรเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกัน ที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย
“พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ทั้งขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และเด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ซึ่งอาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย โดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรฝึกให้เด็กกินหวานลดลง ให้กินขนมไทยน้ำตาลน้อย หวานน้อย หรือฝึกให้เด็กเลือกผลไม้เป็นของว่าง ควบคู่กับการดื่มนมรสจืดและไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือไขมันต่ำเป็นการทดแทน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้และมีวินัยในการกิน และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคาดหวังในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้เด็กไทยปลอดภัยจากการตลาดอาหาร ให้ความรู้ด้านโภชนาการกับเด็ก ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ สามารถเลือกกินขนมหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน รวมทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ จึงเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคอ้วน ด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายที่เพียงพอและเหมาะสม ทำให้เด็กสามารถดูแลสุขภาพตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว