ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา "พล.ต.อ.จักรทิพย์" พร้อมพวก กรณีจัดซื้อรถตรวจการณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ 900 ล้าน เปิดโอกาสให้ชี้แจงใน 15 วัน
วันที่ 14 มีนาคม 2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติแจ้งข้อกล่าวหา พล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 46 ราย กรณีถูกกล่าวหาการดำเนินโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) จำนวน 260 คัน วงเงินงบประมาณ 900 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 และ 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอนทางกฎหมาย กำหนดระยะเวลาภายใน 15 วันหลังได้รับแจ้งข้อกล่าวหา และสามารถยื่นหนังสือขอเลื่อนชี้แจงได้ โดยเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะอนุญาตหรือไม่
สำหรับการไต่สวนโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คันดังกล่าว นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เคยกล่าวอ้างว่า เมื่อปี พ.ศ. 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ พร้อมติดตั้งระบบเทคโนโลยีต่างๆ จำนวน 260 คัน วงเงินงบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และใช้เวลาในการชาร์จ 1 ครั้ง ประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ในข้อเท็จจริงปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีสถานที่ชาร์จประจุไฟฟ้าของรถยนต์ ส่อให้เห็นว่าการดำเนินงานโครงการนี้ อาจจะมีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติงาน
ส่วนในการไต่สวนพบประเด็น 4 เรื่อง คือ การอนุมัติให้ใช้วิธีจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือกชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่ การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ และการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะจำนวน 260 คัน มีราคาแพงเกินจริงหรือไม่ และการไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม (คู่สัญญา) หรือไม่
โดยกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนคดีนี้ ในเบื้องต้น มีจำนวน 46 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5 ราย กลุ่มคณะกรรมการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ 7 ราย กลุ่มคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานกำหนดราคากลางรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก 3 ราย และกลุ่มบริษัทเอกชน 31 ราย
อย่างไรก็ตาม คดีนี้อยู่ในกระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. เท่านั้น ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดใคร พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร.และพวก 46 ราย จึงถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ และหากสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.ได้ ก็จะไม่ถูกชี้มูลความผิดแต่อย่างใด