ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกหมายจับประธานาธิบดี "วลาดิมีร์ ปูติน" ของรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน
วันที่ 18 มี.ค.66 สื่อต่างประเทศรายงานว่าวานนี้ (17 มี.ค.66) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ได้ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ภายใต้การกล่าวหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน โดยมุ่งเน้นการกล่าวอ้างไปที่เรื่องการเนรเทศเด็กนับหลายพันคนจากยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย
โดยอาชญากรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูป
ในแถลงการณ์ของไอซีซีระบุว่ามีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าปูตินกระทำผิดทางอาญาโดยตรง เช่นเดียวกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น และยังกล่าวหาปูตินว่าล้มเหลวที่จะใช้อำนาจประธานาธิบดีในการหยุดยั้งการเนรเทศเด็ก
นอกจากนี้ไอซีซียังออกหมายจับน.ส.มาเรีย ลโววา-เบโลวา ข้าหลวงเพื่อสิทธิเด็กของรัสเซียในข้อกล่าวหาเดียวกันกับปูตินด้วย โดยที่ผ่านมาเธอได้พูดอย่างเปิดเผยถึงความพยายามปลูกฝังความเชื่อให้กับเด็กชาวยูเครนที่ถูกนำตัวไปยังรัสเซีย
เดือนกันยายนปีที่แล้ว ลโววา-เบโลวา ยังกล่าวว่าเด็กบางคนที่พามาจากเมืองมารีอูปอลของยูเครน พูดจาไม่ดีเกี่ยวกับประธานาธิบดีรัสเซีย พูดเรื่องเลวร้ายและร้องเพลงชาติยูเครน เธอยังกล่าวอ้างว่าได้รับเลี้ยงเด็กชายจากมารีอูปอลวัย 15 ปีรายหนึ่งด้วย
ไอซีซีระบุว่าเดิมทีจะปิดเรื่องการออกหมายจับนี้เป็นความลับ แต่ตัดสินใจที่จะเปิดเผยสู่สาธารณะเพื่อหยุดยั้งการก่ออาชญากรรมใด ๆ ต่อไป
รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาในทันทีและตีตราการออกหมายจับดังกล่าวว่าอุกอาจ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า การตัดสินใจใด ๆ ของศาลไม่มีผลและเป็นโมฆะ ขณะที่นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียและคนสนิทของปูติน เปรียบเทียบหมายจับของไอซีซีว่าเป็น กระดาษชำระ
ขณะที่แกนนำฝ่ายค้านรัสเซียอย่างนายอิวาน ชดานอฟ พันธมิตรของอเล็กซี นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านสำคัญที่ถูกคุมขังอยู่ ทวีตยินดีโดยชี้ว่าการออกหมายจับปูตินของไอซีซีเป็นก้าวสัญลักษณ์ แต่เป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญ
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวแสดงความขอบคุณอัยการและศาลไอซีซีสำหรับการตัดสินใจในการดำเนินคดีกับรัฐอักษะปีศาจ ส่วนนายอันดรี คอสติน อัยการสูงสุดของยูเครน ชี้ว่าการตัดสินใจนี้เป็นประวัติศาสตร์สำหรับยูเครน
เมื่อถูกถามถึงการออกหมายจับปูตินของไอซีซี ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม โดยระบุว่าแม้สหรัฐไม่ได้ลงนามเป็นภาคีไอซีซี แต่เขาคิดว่านี่เป็นจุดแข็ง นายปูตินก่ออาชญากรรมสงครามอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของไอซีซีในการนำตัวปูตินและน.ส.ลโววา-เบโลวา มาสู่กระบวนการศาลของไอซีซียังมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากไอซีซีไม่มีอำนาจจับกุมผู้ต้องสงสัยและสามารถใช้อำนาจศาลได้เฉพาะภายในประเทศสมาชิกที่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม อันเป็นข้อตกลงของการจัดตั้งศาลไอซีซีขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งรัสเซียไม่ได้ลงนามเป็นภาคีในข้อตกลงดังกล่าว
กระนั้นผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ายังมีทางเป็นไปได้โดยไอซีซีสามารถอาศัยความร่วมมือของรัฐบาลต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลของไอซีซีในการจับกุมผู้ต้องสงสัยกระทำผิด อย่างน้อยการออกหมายจับดังกล่าวก็ได้สร้างปัญหาให้กับปูติน ที่กลายเป็นบุคคลที่ต้องการตัว โดยเฉพาะในการเดินทางที่ทำให้เขามีข้อจำกัดว่าสามารถเดินทางไปเยือนประเทศใดได้บ้าง
ที่ผ่านมามีอดีตผู้นำที่ถูกนำตัวมาขึ้นศาลไอซีซีแล้วอย่างสโลโบดาน มิโลเซวิช ผู้นำเซอร์เบีย ที่ถูกไอซีซีดำเนินคดีฐานก่ออาชญากรรมสงครามในโครเอเชีย บอสเนียและโคโซโว