รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ชวนสังคมทบทวน "โสเภณี เซ็กส์ทอย เซ็กส์ครีเอเตอร์" ชี้หนีความจริงไม่ได้ แต่ออกแบบกติกาให้เหมาะสมได้ วอนหยุดตีตรา Sex Worker ว่าเป็นอาชีพบ่อนทำลายศีลธรรม ผิดกฎหมาย ชวนรณรงค์ปฏิบัติกับ Sex Worker อย่างเสมอหน้าเท่าเทียม

ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล  รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย ชวนสังคมทบทวนการมีอยู่ของผู้ให้บริการทางเพศ Sex Worker รวมถึงผู้ผลิตสินค้าและให้บริการความบันเทิงทางเพศ อย่าง Sex Toy  และ Sex Creator

 

โดยเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อผู้ให้บริการทางเพศไม่ไม่ต้องหลบซ่อน อยู่ในสถานะที่สามารถแจ้งความกับตำรวจได้อย่างเปิดเผย เมื่อถูกละเมิดสิทธิ โดยไม่ต้องหวาดกลัวโทษทางอาญา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ได้จริง พร้อมย้ำด้วยว่า “การกำหนดให้สินค้าและบริการทางเพศเป็นเรื่องต้องกำจัดทิ้ง ซุกซ่อน ปกปิดแทนที่จะควบคุม จัดระเบียบ ไม่ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้”  

 

ทวีชัย กล่าวถึงปัญหาจากการตีความและใช้ตัวบทกฎหมายต่างๆ ในเรื่องเพศ เช่นพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ที่ว่าด้วยการนำเข้า เผยแพร่ ประกอบการค้าหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งลามกอนาจาร  ที่ตีความ “เซ็กส์ทอย” ให้เป็นวัตถุลามก อนาจาร  ซึ่งขัดขวางประชาชนไม่ให้เข้าถึงสินค้าทางเพศที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เป็นปัญหาให้ประชาชนลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อนอันตราย เสนอแนวทางปรับนิยามใหม่ จากวัตถุลามกอนาจาร สู่สินค้าควบคุมภายใต้รัฐกำกับดูแล ให้มีการนำเข้า ผลิตซื้อขายได้ภายใต้การขอใบอนุญาต จำกัดอายุผู้ซื้อ กำหนดพื้นที่ขาย จึงขอเชิญชวนสาธารณสุขตรวจสอบคุณภาพให้ความรู้ เรื่องสุขอนามัยและการใช้งาน มองไทยมีศักยภาพผลักดันวัสดุในประเทศผลิตเซ็กส์ทอยส่งออก แนะรัฐต้องเอื้อให้มนุษย์มีความสุขโดยไม่รู้สึกเป็นผู้ร้าย

 

ในส่วนของ ผู้ผลิตสื่อบันเทิงทางเพศ Sex Creator ซึ่งก่อนหน้านี้ ทวีชัยได้ให้ความเห็นในกรณีพนักงานบริษัทเอกชนถูกไล่ออกหลังจากนายจ้างรู้ว่าเคยทำคลิปแนว Onlyfans จึงขอเรียกร้องให้สังคมยุติการตีตรา เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่ประชาชนใช้สร้างรายได้บริการจัดการความเสี่ยงบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเองผ่านกล้อง ในขณะที่ผู้ให้บริการทางเพศหรือ Sex Worker นั้นต้องออกไปเจอกับความเสี่ยงข้างนอกในรูปแบบอาชญากรรม ความรุนแรงต่างๆ มากมาย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ถูกบังคับล่อลวงเข้ามาทำงาน ผู้ที่ไร้ทางเลือก รวมถึงบุคคลที่สมัครใจ ปัญหาจึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าผิดถูกกฎหมายอย่างไร แต่จะทำอย่างไรให้บุคคลเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีสิทธิในการประกอบอาชีพเช่นอาชีพอื่นๆ

 

พร้อมตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสและทางเลือกให้ประชาชนแทนการออกกฎหมายต่อต้าน โดยไม่ลืมความสำคัญคือ ต้องยุติการตีตรา Sex Worker ว่าเป็นอาชีพบ่อนทำลายศีลธรรม ผิดกฎหมาย รณรงค์ปฏิบัติกับ Sex Worker  ในความเป็นมนุษย์โดยเสมอหน้า  ไม่ใช่เพียงแรงงานไร้ใบหน้าที่มีผลประโยชน์เพียงให้ตำรวจได้เก็บเรียกเก็บส่วย เป็นแหล่งฟอกเงินผิดกฎหมายเท่านั้น