ผวาซ้ำรอย ! "อ.เจษฎ์" เทียบหลอม "ซีเซียม-137" วิกฤติ "เมฆกัมมันตรังสี" สเปน

จากกรณี "ท่อบรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซี่ยม -137" ได้หายไปจากพื้นที่จ.ปราจีนบุรี ต่อมามีกระแสข่าวว่า ซีเซียม-137ดังกล่าวถูกหลอมไปแล้วนั้น

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โดยระบุ “ข่าวด่วน “หาท่อ ซีเซียม-137 เจอแล้วครับ !” เกือบซ้ำรอยอุบัติเหตุฝุ่นรังสี ที่สเปน จะเกิดอะไรอันตรายขึ้นหรือไม่ ถ้ามันถูกหลอมไปแล้ว !?


คร่าวๆ คือ ตอบได้ยากครับ ว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้างเพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง (ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ) … ที่น่าจะตอบได้คือ มันไม่น่าจะเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์ พลูโตเนียม-ยูเรเนียม อะไรทำนองนั้นขึ้น ไม่น่าจะห่วงในเรื่องนี้ และเมื่อซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” นั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่ (ต้องให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. เอาเครื่องวัดรังสีมาตรวจ)

 

แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสารซีเซียม-137 นั้นให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอม สู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย (เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า)

 

สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ (หรือทำให้เกิด radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี ) และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค …. ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสเปน (ดูด้านล่าง) และกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ที่ควบคุมแทบไม่ได้ เลยทีเดียวครับ

 

ล่าสุด ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็กอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย เหตุการณ์วิกฤติระทึก ที่ซีเซียม-137 ซึ่งถูกเก็บไว้ในภาชนะโลหะ แล้วอาจจะถูกนำไปปะปนกับโลหะเก่าและถูกนำไปหลอม จนอาจทำให้เกิด “โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี” ได้เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาก่อนแล้ว (ข้อมูลจาก https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html)
ดังเช่น ในปี ค.ศ. 1988 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการรีไซเคิลแปรรูปของเก่า ได้พลาดทำการหลอมซีเซียม-137 ที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสีแกมมา ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในรูปของ “radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี” (ดูรายละเอียดในข้อ 3.)


และ ในปี ค.ศ. 2009 บริษัทปูนซีเมนต์ของประเทศจีน ในจังหวัด Shaanxi ได้รื้อโรงงานผลิตซีเมนต์เก่าที่เลิกใช้แล้ว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานกับสารรังสี ทำให้ซีเซียม-137 บางส่วนที่ใช้ในเครื่องมือตรวจวัดซีเมนต์ ถูกส่งไปหลอมรวมไปกับโลหะที่ไม่ใช้แล้ว 8 คันรถที่โรงงานหลอมเหล็ก


อุบัติเหตุ เอเซอริน็อกซ์ (Acerinox accident)
บริษัท Acerinox ของสเปน เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กชนิดสเตนเลสสตีล โดยในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการที่สาร cesium-137 ได้หลุดปนเข้าไปอยู่ในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก ที่อยู่ในเมือง Los Barrios ทั้งที่โรงงานดังกล่าวมีเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุที่อาจเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีสารซีเซียม-137 ผ่านเข้าไปได้และถูกหลอมในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน


จากนั้น ได้เกิด “เมฆกัมมันตรังสี radioactive cloud” ขึ้น และถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยทันที ซึ่งไม่โดนตรวจจับได้จากเครื่องตรวจวัดที่ปล่องไฟของโรงงานนั้น แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมันนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี กลับตรวจพบได้ โดยขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้น ถูกพบว่ามีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงมาเพียงพอที่จะเป็นอันตรายได้ โดยมีระบบความเข้มข้นของรังสีสูงขึ้นจากปรกติถึง 1 พันเท่ามีคนงาน 6 คนในโรงงานดังกล่าวที่ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อย โรงงานได้ถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดกำจัดการปนเปื้อน รวมไปถึงโรงงานอื่นๆ อีก 2 โรง ที่รับเอาของเสียจากโรงงานนี้ไป


อุบัตเหตุนี้ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มากถึง 40 ลูกบาศก์เมตร มีเถ้ากัมมันตรังสีเกิดขึ้นถึง 2 พันตัน และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ปนเปื้อนอีก 150 ตัน โดยมูลค่าของกระบวนการในการทำความสะอาด รวมถึงความสูญเสียการผลิตของโรงงานไป นั้นสูงถึง 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ ขณะนั้น)