"นายกฯ" ห่วงใยสุขภาพประชาชน ขอให้ดูแลตนเองช่วงอากาศร้อน และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด
วันที่ 28 มี.ค. 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความห่วงใยสุขภาพประชาชน เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้หลายพื้นที่มีอากาศร้อนมากกว่าปีที่ผ่านมา อุณหภูมิอาจจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงกลางวัน อาจทำให้ประชาชนเจ็บป่วยจากโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้ตัวร้อน หน้ามืด เพ้อ กระสับกระส่าย หายใจเร็ว มึนงง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชักเกร็ง ช็อก จนถึงขั้นหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยรัฐบาลห่วงใยประชาชนที่ทำงานกลางแจ้ง แดดแรงจัด อาจช็อกฮีทสโตรก ขอให้ดูแลสุขภาพตนเอง และไม่ประมาทจากการทำงานกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดร้อนจัด
นายอนุชากล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ผู้ทำกิจกรรมกลางแดด เช่น เล่นกีฬา ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร พนักงานรักษาความปลอดภัย คนสวน กรรมกรก่อสร้าง เกษตรกร ประมง พนักงานงานส่งของ ไรเดอร์ และพนักงานที่ต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน และการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดผื่น ตะคริวจากความร้อน และหากมีโรคประจำตัว พักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้เพลีย อาจทำให้เกิดการวูบและพลัดตกจากที่สูงได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคลมแดด โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
นายอนุชากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลโดยกรมควบคุมโรคและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีข้อแนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองในช่วงอากาศร้อน ควรสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อนที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนาน ๆ สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย โดยไม่ต้องรอหิวน้ำ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้านที่เป็นห้องกระจกปิดไว้เพียงลำพัง และอย่าทิ้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้า หรือช่วงเย็น ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยจากภาวะอากาศร้อนให้ช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือสายด่วน 1669 ทันที