หมอแจง หลังญาติคาใจหญิงคลอดลูก กลับถูกตัดขาจนเสียชีวิต เผยรักษาตามขั้นตอน แต่คนไข้มีโรคประจำตัวที่อาจจะไม่รู้ตัวมาก่อน ทำให้เกิดเหตุสลดดังกล่าว
วันที่ 29 มี.ค.66 กรณีที่ผู้ใช้ติ๊กต็อก รายหนึ่งโพสต์ระบายความรู้สึกคาใจที่พี่สาวท้อง 9 เดือน ไปคลอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับถูกตัดขา โดยระบุข้อความเล่าว่า "พี่เราเองค่ะเขาอายุ 39 ปี ท้อง 9 เดือน เขาปกติทุกอย่าง พอหมอนัดคลอดเขาก็ไปตามนัดรอคลอดปกติ แต่เขาไม่ได้ปวดท้องหมอเลยทำการเหน็บยา แต่เขาไม่มีแรงเบ่งระหว่างที่หมอทำคลอดเขาหมดสติ หมอเลยดูดลูกออกจนมดลูกพี่เราฉีก ตกเลือดหนักมากจนช็อกหมดลมหายใจต่อหน้าน้องสาว เราที่พาไปคลอดหมอทำการปั๊มหัวใจต่อมาเขาก็โดนตัดขา เพราะอะไรเราก็ไม่รู้ เราจะไปเรียกร้องความยุติธรรมจากใครได้บ้างค่ะ"
หลังคลิปดังกล่าวถูกแชร์ออกไป มีคนเข้ามาแสดงความเห็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เข้ามาให้กำลังใจให้กับครอบครัว และขอให้พี่สาวปลอดภัย กระทั่งมีคอมเมนต์หนึ่งแสดงความเห็นว่า "งงทำไมคะ หมออธิบายญาติไปแล้ว และอีกอย่างท้องตอนอายุเยอะเสี่ยงทุกเรื่องค่ะ"
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 02.25 น. คืนที่ผ่านมา นางสาววัฒนาพร อายุ 39 ปี คนไข้คนดังกล่าวได้เสียชีวิตลงแล้วที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ โดยญาติได้เดินทางมารับศพที่โรงพยาบาลด้วยอาการโศกเศร้า เพราะแม่ยังไม่ได้เห็นหน้าลูกชายที่คลอดออกมา แต่ต้องจากไปก่อน
นางรจนา น้องสาวผู้เสียชีวิต กล่าวว่า พี่สาวเข้าโรงพยาบาลเพื่อต้องการคลอดเมื่อวันที่ 17 ก.พ.แต่ได้ถูกส่งต่อไปคลอดที่โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์
ต่อมา 18 ก.พ. พี่สาวคลอดเวลา 12.42 น. ได้ลูกชายน้ำหนัก 3,350 กรัม ต่อมาได้รับแจ้งจากหมอว่าพี่สาวมีอาการผิดปกติต้องเข้าห้องไอซียู จนกระทั่งวันที่ 21 ก.พ. หมอมาแจ้งว่าจะต้องตัดขาขวา แต่สุดท้ายพี่สาวได้เสียชีวิตลงในที่สุด
นางรจนา กล่าวด้วยว่า แต่ละขั้นตอนการรักษาของหมอ ได้แจ้งญาติมาโดยตลอด สิ่งที่ญาติยังคาใจคือ "ทำไมไม่ผ่าตัดเอาลูกออก" หากแม่ไม่แข็งแรงพอที่จะคลอดแบบธรรมชาติได้ หลังจากนี้จะต้องกลับไปที่บ้านก่อน จนกว่าทางโรงพยาบาลจะไปเจรจาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
นายแพทย์ภูวดล กิตติวัฒนาสาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังจากได้รับคนไข้ที่ถูกส่งตัวมา จากข้อมูลพบว่าทางแพทย์ได้ทำการรักษาอาการตามขั้นตอน ไม่สามารถจะผ่าคลอดได้ เพราะการตอบสนองของคนไข้ดี ช่องคลอดเปิดออกปกติ แต่เมื่อแม่หมดแรงจะต้องใช้อุปกรณ์เครื่องมือไปช่วยเหลือตามขั้นตอน ส่วนการเยียวยา ทางโรงพยาบาลจะต้องมีการหารือว่าเข้ามาตรา 41 ตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กรณีผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียที่เกิดจากการักษาพยาบาล) หรือไม่ ถ้าไม่ติดปัญหาทางโรงพยาบาลก็พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ
ขณะที่นายแพทย์อนันต์ มุ่งเจริญสันติกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังได้รับคนไข้มา ได้มีการประเมินแล้ว แต่ปรากฏว่าในช่วงนั้นแม่ไม่มีแรงเบ่งสวนกับสถานการณ์คือหัวเด็กลงต่ำแล้ว ไม่สามารถจะผ่าตัดตอนนั้นได้ เพราะน่าจะล่าช้ากว่า จึงใช้เครื่องมือมาช่วยในการคลอด
หลังจากนำเด็กออกมาแล้ว แม่เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุด จึงได้นำไปตรวจเช็กอย่างละเอียด มาพบว่าแม่เด็กมีอาการเลือดแข็งตัว ซึ่งเป็นโรคที่แม่เด็กเองอาจจะไม่ทราบมาก่อน ลักษณะนี้เลือดจะไม่ไหลลงไปอวัยวะส่วนล่าง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกอวัยวะ แต่เคสนี้ไปเกิดขึ้นที่ขาขวา จึงจำเป็นต้องตัดขาเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ ทั้งนี้โรงพยาบาลต้องขอแสดงความเสียใจให้กับผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิตเป็นอย่างยิ่ง