นายกสภาทนายฯ ตั้งข้อสังเกตเคส "ทนายดัง" เก็บเงินค่าแถลงข่าว อาจผิดข้อบังคับสภาทนายฯ ต้องให้ "กก.มรรยาท" สอบ ลั่นไม่ใช่เสือกระดาษเอาผิดได้ แต่ตอนนี้ไม่มีผู้ร้องเรียน
วันนี้(29 มี.ค.2566) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการฯ, นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยถึงกรณีที่มีทนายความยอมรับการเรียกเก็บเงินค่าแถลงข่าวและพาดพิงกันผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
โดยนายวิเชียร เปิดเผยว่า การฝ่าฝืนมรรยาททนายความในภาพรวมการพิจารณาจะมีบทลงโทษ 3 ระดับ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ห้ามเป็นทนายความ 3 ปี 3.ลบชื่อออกจากสารบบทนายความ ซึ่งความหนักเบาของบทลงโทษขึ้นอยู่กับความผิดที่คณะกรรมมรรยาทของสภาทนายความ 2 ชุดคือชุดบริหารกับชุดมรรยาท พิจารณา ซึ่งข้อที่เข้าข่ายคือข้อ 18 ระบุว่า ทนายความที่ดำเนินธุรกิจหรือประพฤติตนในลักษณะเสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของวิชาชีพ ถือว่าผิดมรรยาททนายความ และข้อ 14 เมื่อได้รับเป็นทนาย ภายหลังใช้อุบายนอกเหนือจากที่ตกลงกันในสัญญาว่าความ ถือว่ามีความผิดมรรยาททนายความ แต่กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่มีคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือมีผู้เสียหาย หรือข้อความปรากฏชัด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครมาร้องทุกข์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยกรรมการมรรยาทจะเร่งตรวจสอบเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ยอมรับว่า ชณะนี้ไม่มีกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบ ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบในการพิจารณามรรยาททนายความรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน ยอมรับว่าตลอดชีวิตที่ประกอบอาชีพทนายความ ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน
นายวิเชียร ยืนยันว่า ไม่ใช่เสือกระดาษ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมีความชัดเจนปรากฏ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่ยอมรับว่าไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาท ส่วนการกำหนดค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทนายความแต่ละคน ไม่มีการกำหนดไว้ถึงราคาขึ้นต่ำหรือเพดานราคาสูงสุด แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นไม่เหมาะสม แม้จะไม่ผิดมรรยาท
ด้านนายสุนทร กล่าวว่า ตามหน้าที่ของทนายความ ไม่สามารถนำข้อมูลของลูกความมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความหรือโดยอำนาจของศาล แต่หากเป็นการเอาข้อมูลคู่กรณีลูกความมาเปิดเผย จะเข้าข่ายประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีหรือเสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของทนายความ ทั้งนี้ จะต้องสอบข้อเท็จจริงโดยกรรมการมรรยาททนายความ เมื่อวินิจฉัยแล้ว ต้องส่งเรื่องให้นายกสภาฯ พิจารณาภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่ทนายนำข้อมูลของทนายอีกคนมาเปิดเผยว่ามีความผิดต่าง ๆ นั้น อาจเข้าข่ายในฐานะประพฤติตนฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี
ขณะที่นายสมพร ดำพริก กรรมการสภาทนายความฯ ระบุว่า การที่มีทนายความใช้ถ้อยคำหลีกเลี่ยงบาลีในการเก็บผลประโยชน์ ถือเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะผิดมรรยาท ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร แต่ขอเตือนว่าตามปกติ ทนายความห้ามโฆษณาอยู่แล้ว พูดว่าปรึกษาฟรี นอกจากเป็นสภาทนายความ หรือสมาคมทนาย การเลี่ยงบาลีว่าเป็นทนายประชาชน แล้วมาแอบอ้างทำแบบนี้ ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ในเรื่องมรรยาท เรื่องแบบนี้ ในอาชีพเดียวกันก็ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบแล้วยังไม่ต้องพูดถึงประชาชน เพราะบางคนเป็นทนายที่ดีและเก่ง ก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ทนายความไม่มีใครเก่งกว่าใคร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่ชาวบ้านไปเชื่อว่าคนที่ออกสื่อและโฆษณาคือคนเก่ง เอาเรื่องไปกระจุกอยู่นับพันคดี