"คมนาคม" ให้ขึ้นทางด่วนฟรี 7 วัน ช่วงสงกรานต์ 11-17 เม.ย. 2566 มีเส้นทางไหนบ้าง เช็กเลย!
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รักษาราชการแทน รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงคมนาคมระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2566 ระยะเวลารวม 7 วัน พร้อมกำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลสัมฤทธิ์
ทั้งนี้ “เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ร่วมกันเปิดให้บริการฟรีแก่พี่น้องประชาชน ดังนี้
◉ ขึ้นมอเตอร์เวย์ ฟรี 2 เส้นทาง
– หมายเลข 7 (กรุงเทพมหานคร-เมืองพัทยา)
– หมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี และตอนพระประแดง-บางแค ช่วงพระประแดง-ต่างระดับบางขุนเทียน)
เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 12 เม.ย. 2566 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 18 เม.ย. 2566
◉ ขึ้นทางพิเศษ ฟรี 2 เส้นทาง
– ทางพิเศษบูรพาวิถี (ช่วงบางนา-ชลบุรี)
– ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)
เริ่มตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันอังคารที่ 18 เมษายน 2566 โดยคาดว่าจะมีปริมาณจราจร รวมทั้งสิ้น 2.57 ล้านคัน
◉ ขึ้นทางด่วน ทางพิเศษ ฟรี อีก 3 เส้นทาง
– ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จำนวน 31 ด่าน
– ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จำนวน 10 ด่าน
– ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 19 ด่าน
โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 3 วัน (วันที่ 13-15 เม.ย. 2566)
◉ เปิดเส้นทางมอเตอร์เวย์ ฟรี
– หมายเลข 6 ช่วงปากช่อง-สีคิ้ว-ขามทะเลสอ ระยะทาง 64 กิโลเมตร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566
– ขาออกเป็นเวลา 3 วัน (วันที่ 12-14 เมษายน 2566)
– ขาเข้าเป็นเวลา 4 วัน (วันที่ 15-18 เมษายน 2566)
◉ เปิดจุดจอดฟรี
บริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C เป็นเวลา 7 วัน (วันที่ 12-18 เมษายน 2566)
นอกจากนี้ คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) หรือบอร์ด กทพ. ยังเห็นชอบยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ สำหรับรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) ระหว่างสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหัวลำโพง และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษย่านพหลโยธิน เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม – 18 กรกฎาคม 2566 ด้วย