โคราชอ่วม !! 5 เดือนเจอไฟป่า 16 ครั้ง เสียหายกว่า 200 ไร่ 3 เดือน เผาไร่นา 695 จุดใน 32อำเภอ ทำปัญหาฝุ่นควันฟุ้ง

4 เม.ย. 66 ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ห้องประชุมท้าวสุรนารี ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้มอบหมายให้นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาเป็นประธานในการประชุมฯ ซึ่งมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดนครราชสีมา และติดตามผลการดำเนินมาตรการการป้องกันและแก้ไขของแต่ละหน่วยงานในห้วงที่ผ่านมา

 

นายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเลขานุการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดฯ ได้รายงานว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2566 จังหวัดนครราชสีมา เกิดสถานการณ์ไฟป่า ไปแล้ว 16 ครั้ง โดยเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 12 ครั้ง เสียหายไป 173 ไร่ , อุทยานแห่งชาติ 2 ครั้ง ป่าเสียหายไป 30 ไร่ และป่าวังน้ำเขียว 2 ครั้ง ป่าเสียหาย 23 ไร่ รวมพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้เสียหายไป 226 ไร่ เมื่อตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดไฟป่า ก็พบว่า เกิดจากการลักลอบเผาเพื่อหาของป่า มากสุดจำนวน 13 ครั้ง ทำให้ป่าเสียหายไป 188 ไร่ , จากเผาไร่ 1 ครั้ง เสียหาย 15 ไร่ และเกิดจากการเผาอื่นๆ อีก 2 ครั้ง เสียหายไป 23 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบการเผาริมทาง อีก 25 ครั้ง ในพื้นที่ริมทางหลวง และทางหลวงท้องถิ่น เป็นระยะทางกว่า 32 กิโลเมตร

 

สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา รายงานว่า ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 พบจุดความร้อน Hotspot ในพื้นที่การเกษตร มากถึง 695 จุด กระจายพบทั้ง 32 อำเภอ โดยอำเภอที่พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรมากสุด จากการลักลอบเผาและจากสาเหตุอื่นๆ ก็คือ อำเภอด่านขุนทด พบจุดความร้อนมากถึง 109 จุด รองลงมาคือ อำเภอโนนสูง พบจุดความร้อน 84 จุด , อำเภอพิมาย 78 จุด , อำเภอสีคิ้ว 55 จุด , อำเภอโนนไทย 57 จุด , อำเภอปากช่อง 42 จุด ,อำเภอปักธงชัย 40 จุด ส่วนอีก 25 อำเภอ พบจุดความร้อนไม่เกิน 30 จุด

 

จังหวัดนครราชีมา จึงยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากไฟป่า หมอกควัน ลุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นประเด็นเร่งด่วน โดยให้ควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ริมทาง และบ่อขยะ และให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน ตลอดจน ดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกในพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการเผา โดยให้อำเภอทั้ง 32 อำเภอ ทำงานร่วมกับเกษตรอำเภอ ลงพื้นที่แจ้งเกษตรกรที่ยังไม่เก็บเกี่ยวผลผลิต ให้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งถ่ายความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกษตรกรได้ทราบ จะได้ไม่ไปลักลอบเผาซากพืชผลเกษตร ซึ่งหากยังฝ่าฝืนลักลอบเผาจะดำเนินการทางกฎหมายทันที ในข้อหา “เผาหรือกระทำการด้วยประการใดๆ ภายในระยะ 500 เมตรจากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันหรือสิ่งอื่นใดในลักษณะที่อาจทำให้ไม่ปลอดภัยแก่การจราจรในทางเดินรถ” โดยจะส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีทันที

 

นอกจากนี้ ให้ผู้ใหญ่บ้าน อปท. อำเภอ และตำรวจออกลาดตระเวน-แจ้งเหตุ ตืดตามสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ดูแล และจัดอุปกรณ์เผชิญเหตุไว้ให้พร้อม ควบคู่ไปกับการควบคุมฝุ่นละอองในพื้นที่ชุมชนด้วย ทั้งการฉีดล้างฝุ่นจากผิวจราจร ,การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะ การตรวจควันดำ ,การควบคุมฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ เพื่อลดค่าฝุ่นมลพิษในอากาศลง ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน