เตรียมตัวให้พร้อม !! พรุ่งนี้ร้อนจัดค่าดัชนีสูงทั่วประเทศไทย ขณะ "บางนา" ปรอทแตกเฉียด 50.2 องศาเซลเซียส
5 เม.ย. 66 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนฉบับที่ 2 (92/2566) เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงวันที่ 6 – 9 เมษายน 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งรวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มมีผลกระทบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคเหนือจะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป
พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดในวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ค่าดัชนีความร้อนสูงสุด
ภาคกลาง บางนา 50.2 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออก แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส
ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส
ภาคใต้ จ.ภูเก็ต47.9 องศาเซลเซียส
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 41.5 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้กรมอุตุนิยมวิทยา ยังแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อนระดับเฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ซึ่งกรมนามัย กำหนดค่าดังนี้
เฝ้าระวัง อุณหภูมิ 27-32 องศาเซลเซียส อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีระษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนหรืออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
เตือนภัย อุณหภูมิ 32-41 องศาเซลเซียส เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
อันตราย อุณหภูมิ 41-54 องศาเซลเซียส มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
อันตรายมาก อุณหภูมิมากกว่า 54 องศาเซลเซียส เกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก)
ทั้งนี้ช่อง 8 ออนไลน์แนะนำวิธีรับมือโรคฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ภัยร้ายสุดอันตรายที่สามารถคร่าชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
นำผู้ป่วยเข้าร่ม นอนราบ
ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง
ถอดเสื้อผ้าชั้นนอกออก
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตัว
ตามคอ หลัง รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับ
และนำพัดลมเป๋า ระบายความร้อน
แจ้งสายด่วน 1669
หรือรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีการป้องกัน
ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา
ระบายความร้อนได้ดี
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน
หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
หากทำงานหรือเล่นกีฬา ไม่ควรหักโหม
ใช้ครีมกันแดด SPF 15 ขึ้นไป
ควรดูแลเด็กเล็กและผู้สูงอายุเป็นพิเศษ