"ชูวิทย์" ยื่นหนังสือต่อสภาทนายความ ตรวจสอบการกระทำของ "ทนายตั้ม" ว่าผิดมรรยาทหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้ถอดถอนใบประกอบวิชาชีพ

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง เดินทางมาที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

โดยนายชูวิทย์ ระบุว่า ตนเองกับนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เคยคุยกันแค่ครั้งเดียว เรื่องนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นไม่เคยคุยกัน

ทุกคนต้องยอมรับว่า อาชีพทนายความนั้นต้องมีความเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ มีมรรยาททนายความ เพราะอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาทนายตั้ม ได้ใช้สื่อมวลชน เป็นเครื่องมือในการโจมตีผู้อื่น การตั้งโต๊ะแถลงข่าว ไม่ใช่หน้าที่ของทนาย รวมทั้งยังมีการพูดจาโจมตีตนเองตลอด ทั้งๆที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกันมาก่อน ไม่เคยมีคดีต่อกัน และไม่เป็นความจริง

"ตนเองจึงมาที่สภาทนายความ เพื่อยื่นหนังสือและหลักฐานต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบว่าการกระทำของทนายตั้มเข้าข่ายความผิดหรือไม่ โดยเฉพาะการฝ่าฝืนข้อบังคับของสภาทนายความ พ.ศ.2529 หมวด 4 มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน และต่อประชาชน ประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือทำเสื่อมเสียต่อเกียรติคุณทนายความ

อยากให้คณะกรรมการของสภาทนายความเร่งสอบสวนทนายตั้ม หากมีความผิดควรจัดการให้เด็ดขาด ต้องลบชื่อออกจากสภาทนายความ และถอดถอนใบอนุญาตทนายความ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างต่อทนายความคนอื่นๆ" นายชูวิทย์ ระบุ

นายชูวิทย์ ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันมีทนายสายโซเชี่ยลหลายคน ใช้โซเชี่ยลเป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน เป็นการโฆษณาตัวเอง ว่ามีความรู้ความสามารถ แล้วก็มาหากินกับประชาชน พอตกลงกันไม่ได้ เงินไม่ถึง ก็ต่อว่าหรือประจานผ่านโซเชี่ยล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสภาทนายความเสียหาย

ด้านนายสมพร อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย วันนี้มารับหนังสือ พร้อมเปิดเผยว่า ขอบคุณนายชูวิทย์ ที่ห่วงใยในอาชีพทนายความ เมื่อมีเห็นใครคนใดคนหนึ่ง ทำนอกลู่นอกทาง ประชาชนก็สามารถยื่นเรื่องให้ตรวจสอบได้ ซึ่งจะผิดหรือไม่ผิด ก็ขึ้นอยู่กับมติของคณะมรรยาททนายความ ยืนยันว่าตนเองไม่เคยมีอะไรกับทนายตั้ม และจะเร่งนำเรื่องนี้มาพิจาณาโดยเร็ว และจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

"โดยส่วนตัวมองว่า การกระทำของทนายตั้ม บางส่วนไม่สมควร และเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่ทนายความคนอื่นก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเช่นกัน" นายสมพร ระบุ

สำหรับการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาท มี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน , ภาคทัณฑ์ , พักใบอนุญาต ไม่เกิน 3 ปี , โทษหนักสุดคือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ การถูกว่ากล่าวตักเตือน และภาคทัณฑ์ ยังสามารถว่าความได้ แต่การถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจะเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด

หากถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความครบ 5 ปีเต็ม หลังจากนั้นสามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความได้ใหม่ เริ่มต้นจากศูนย์ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่อย่างไร