อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ผู้สืบสานศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร ถึงแก่กรรมแล้ว ที่บ้านพัก ตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี ขณะมีอายุ 80 ปี
เมื่อเวลา 00.15 น. วันที่ 13 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า อาจารย์ทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ ได้เสียชีวิตลงที่บ้านพักในตำบลช่องสะแก อำเภอเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ศิลปะปูนปั้นเมืองเพชร บ้านศิลปินแห่งชาติ หลังเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเพชรรัตน์ และร้องขอให้ภรรยาพากลับบ้านก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบในบ้านพัก นับเป็นความสูญเสียอย่างยิ่งใหญ่ ที่ศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์ทองร่วง ได้เสียชีวิตลง
นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ศิลปะปูนปั้น) เป็นศิลปินปูนปั้นและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะปูนปั้น มีฝีมือยอดเยี่ยมและจินตนาการอันบรรเจิดที่มีรูปแบบในการปั้นและสูตรเฉพาะตัวในการตําปูน ที่สืบทอดและอนุรักษ์ศิลปะปูนปั้นดั้งเดิม ของช่างเมืองเพชร มีผลงานปูนปั้นที่ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถตามวัดในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดมากมาย เช่น วัดมหาธาตุวรวิหาร วัดพลับพลาชัย วัดโคก และวัดเขาบันไดอิฐ ทั้งนี้ได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานมีทั้ประเภทความงามด้านประเพณีช่างโบราณ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง หน้าบัน คันทวย อย่างสวยงาม และประเภทแนวสร้างสรรค์สังคม โดยการปั้นรูปล้อเลียนบุคคลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยนอกจากนี้ผลงานปั้นยังสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่าง ๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียดและสะท้อนภาพสังคมในยุคนั้น ๆ และยังก่อให้เกิดอรรถรสในการชมงานศิลปะปูนปั้น ทําให้ดูมีชีวิตชีวา ให้ความรู้สึกถึงความจริงแห่งวิถีในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าเพื่อให้ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรมไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการตัดสินการประกวดศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย และเป็นวิทยากรพิเศษสอนศิลปะปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ นับว่าเป็นอาจารย์สอนศิลปะปูนปั้นต้นแบบที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจวิชาศิลปะปูนปั้นได้อย่างดียิ่ง และอุทิศตนให้กับสังคม ดําเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและอนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยต่อไป
ทั้งนี้ นายทองร่วง เอมโอษฐ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2486 ที่ตําบลบางกระบือ อําเภอบางคนทีจังหวัดสมุทรสงครามเป็นบุตรคนที่ 2 ในจํานวนพี่น้อง 4 คน ของนายยศ เอมโอษฐ และนางสําลี เอมโอษฐ สมรสกับนางบุญเรือน เอมโอษฐ มีบุตร 2 คน ชาย 1 คน หญิง 1 คน
จบนักธรรมชั้นเอก จากวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม ปริญญากิตติมศักดิ์ จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เริ่มทํางานปูนปั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนถึงปัจจุบัน โดยปั้นงานให้กับวังและวัดต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีและในต่างจังหวัด ต่อมาพ.ศ. 2522 ได้รับเชิญจากกรมศิลปากรในฐานะผู้เชี่ยวชาญพุทธศิลป์สถาปัตยกรรมและประติมากรรมไทย ในโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเตรียมการฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์
ครูทองร่วงเมื่อวัยเด็กหลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บิดามารดาก็ให้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบางใหญ่ ในอําเภอบางคนทีจังหวัดสมุทรสงคราม ระหว่างนั้นก็ได้รับความเมตตาจาก พระมหาเสวกจันทร์แดงสอนการคัดลายมือการเขียนลายไทยและการเขียนสีน้ํามัน เพื่อการเขียนป้ายต่างๆในวัดสามเณรน้อยตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้แล้วจึงย้ายไปวัดอัมพวันเพื่อศึกษาระดับนักธรรมโท และนักธรรมเอก
ต่อมา สามเณรทองร่วง ได้พบกับครูพิณ อินฟ้าแสง ช่างปั้นชั้นครูผู้ซึ่งกลายมาเป็นครูคนแรกที่สอนงานและถ่ายทอดแนวคิดต่าง ๆ ในงานศิลปะปูนปั้นให้จึงเกิดความประทับใจจนกลายเป็นความศรัทธาหลังลาสิกขาบทขณะอายุได้ 18 ปีหนุ่มน้อยทองร่วงจึงได้ใช้การเรียนรู้แบบครูพักลักจําจากการเฝ้าสังเกตดูครูพิณทํางานและทดลองปั้น พร้อมทั้งได้รับเอาวิธีการ เช่น ตําปูน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความมานะพยายามอย่างมากเพราะกว่าจะได้ปูน 1 กระป๋องต้องใช้เวลาตําถึง 3 วัน รูปแบบ การแก้ปัญหา และแนวความคิดในการสร้างสรรค์งานแบบอย่างครูพิณไว้ได้อย่างครบถ้วน จนสามารถก้าวขึ้นเป็นศิลปินปูนปั้นแถวหน้าของจังหวัดเพชรบุรีและได้รับการยอมรับนับถือจากช่างปูนปั้นทั้งเก่าและใหม่ในที่สุด
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ครูทองร่วงได้ทํางานออกแบบพระพุทธรูป โบสถ์และงานปูนปั้นสําคัญ ๆ มากมาย รวมทั้งออกแบบฐานพระประธาน พระพุทธชินราช และโบสถ์หลังใหญ่ วัดโตนดหลวงอําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรีลวดลายของโบสถ์และเจดีย์วัดกลางบางแก้ว อําเภอนครชัยศรีจังหวัดนครปฐมทําให้ชื่อเสียงของครูทองร่วง เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไปทั้งในจังหวัดเพชรบุรีและต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น
ก่อนถึงแก่กรรม ครูทองร่วงตัดสินใจที่จะบ่มเพาะช่างรุ่นหลัง ๆ ไว้สืบทอดศิลปะแขนงนี้จึงมุ่งเน้นการสอนเพียงอย่างเดียว ครูค่อย ๆ ฝึกคนทํางานทีละ 4 – 5 คน เพื่อหัดทําปูนปั้นลายง่าย ๆ พอชํานาญสามารถทําลายยาก ๆ ได้ครูก็จะเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ไปรับงานเองได้ เวลาใดที่มีงานใหญ่ครูก็จะระดมบรรดาลูกศิษย์มาร่วมกันทําและต่อยอดด้วยการสอนคนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้นอกจากงานศิลปะปูนปั้นลอยตัวที่งดงามราวกับมีชีวิตซึ่งครูทองร่วงได้ทุ่มเทพลังเพื่อสร้างสรรค์คู่วัดวาอารามด้วยความตั้งใจทําเป็นพุทธบูชา ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าครูทองร่วงยังได้มุ่งมั่นอนุรักษ์หัตถกรรมปูน ปั้นแบบดั้งเดิมของช่างเพชรบุรีให้อยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป