ผบ.ตร. ติวเข้มความปลอดภัยสงกรานต์ เน้นจุดจัดงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ให้จัดตั้ง ศปก.ส่วนหน้า เพื่อดูแลทุกมิติ ส่วนงานจราจรให้เปิดเลนพิเศษอำนวยความสะดวก เน้นจับเมา เร็ว เพื่อลดอุบัติเหตุ ยอดจับเมา 2 วัน 5,858 ราย
วันนี้ (13 เม.ย.66 เวลา 10.30 น.) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566 โดยมีตำรวจหน่วยปฏิบัติเฝ้าฟังทั่วประเทศ เพื่อรับทราบสถานการณ์ด้านการข่าว ข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การบังคับใช้กฎหมาย และข้อกฎหมายที่สำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ภาพรวมในการดูแลเทศกาลสงกรานต์ และการเตรียมความพร้อมยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กำลังพลเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนพร้อมปฏิบัติ โดย ตร. มีการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2566” บูรณาการและประสานการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด ในปี 2566 พบว่าประชาชนและนักท่องเที่ยวมีการเดินทางและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดได้คลี่คลายลง ปริมาณรถ เข้า-ออก กทม. มีปริมาณสูงขึ้นกว่าปีก่อน เมื่อวาน (12 เม.ย.66) มีรถเดินทางออกกว่า 645,100 คัน สูงกว่าปกติ 34% และสูงกว่าเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา 6.6% ตำรวจได้อำนวยความสะดวกจราจร เปิดช่องทางพิเศษต่อเนื่องทั้งคืน ส่วนเช้าวันนี้การจราจร มีชะลอตัวช่วงบางปะอิน บางบัวทอง หนองแค กลางดง ปากช่อง และสายใต้ช่วงเมืองสมุทรสาคร แต่ยังคงเคลื่อนตัวได้ดี คาดว่าวันนี้ยังมีการเดินทางทั้งวัน แต่จะลดน้อยลงกว่าเมื่อวาน
ส่วนสถิติการเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 11 – 12 เม.ย.66 พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุยังคงมีตัวเลขสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบสถิติสามปีย้อนหลัง ยังคงมีตัวเลขลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงลดลงกว่าปีก่อน สถานการณ์ภาพรวมยังคงควบคุมและอำนวยการได้ตามเป้าหมาย
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจาก 1.ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด 2.ตัดหน้ากระชั้นชิด 3.ดื่มแล้วขับ โดยยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ กระบะ นั่งส่วนบุคคล (ตามลำดับ) และถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดพบว่าเป็น ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ถนนทางหลวง ถนนในเมือง ดำเนินคดี 10 ข้อหาหลักกว่า 143,436 ราย โดยเป็นข้อหาเมาแล้วขับ 5,858 ราย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งจุดตรวจกว่า 1585 จุด (จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 956 จุด จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 629 จุด)
ทั้งนี้ มีประชาชนร่วมโครงการฝากบ้าน 4.0 จำนวน 5,633 หลัง และได้มีการจัดงานเทศกาลในหลายพื้นที่ ทั่วประเทศกว่า 86 แห่ง และโดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. กว่า 40 แห่ง ในที่ประชุม ตร. ยังคงเน้นบังคับใช้กฎหมายด้านการจราจรและการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างเข้มงวด (ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม) เล่นสงกรานต์ตามประเพณี สืบสานวัฒนธรรม
สำหรับพื้นที่จัดงานสงกรานต์ สั่งการหน่วยให้ความสำคัญกับทุกๆ พื้นที่ที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น จัดงานขนาดใหญ่ ในพื้นที่จังหวัด กทม. จำนวน 40 แห่ง เช่น ถนนข้าวสาร สยามสแควร์ และในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ชลบุรี ขอนแก่น โคราชภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ กำชับทุกพื้นที่ให้ตำรวจประสานการปฏิบัติกับผู้จัดงาน จัดตั้งกองอำนวยการร่วม (ศปก.สน. ศปก.พื้นที่) รองรับการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งจุดคัดกรอง บริหารจัดการพื้นที่อย่าให้มีความแออัด ตรวจสอบกล้อง CCTV เตรียมแผนเผชิญเหตุรองรับทุกด้าน เช่น อัคคีภัย การส่งกลับทางการแพทย์ เหตุทะเลาวิวาทหรือการทำร้ายร่างกาย เหตุประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน