สายพันธุ์ม้ามืดแพร่เร็ว !! ทำความรู้จักโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอมิครอน XBB.1.16"อาการเด่นเยื่อบุตาอักเสบ ลักษณะคล้ายตาแดง
ลังสงกรานต์พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าของสัปดาห์ก่อนหน้า โดยสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วทั้งหมด 435ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย
ทั้งนี้ยังพบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก พบเชื้อแล้วใน 22 ประเทศโดยเฉพาะประเทศอินเดีย เชื้อสายพันธุ์ล่าสุดนี้มีความสามารถในการติดต่อสูงกว่าเชื้อสายพันธุ์ในอดีต เป็นที่จับตาขององค์การอนามัยโลก แต่ข้อมูลขณะนี้พบว่าอาการไม่ได้รุนแรงเพิ่ม ทั้งนี้ ฐานข้อมูล GISAID มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทย 6 ราย จากที่มีรายงานทั่วโลกเกือบ 3 พันราย
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID ล่าสุด มีการรายงานการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม XBB.1.16 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อแล้ว 6 ราย และยังพบ XBB.1.16.1 ในไทยอีก 1 ราย เป็นสายพันธุ์ที่แตกแขนงจาก XBB.1.16 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดในอินเดียแล้ว
โควิดลูกผสม XBB.1.16 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม 3 ตำแหน่ง คือ E180V K478R และ S486P ทำให้สามารถเกาะติดและติดเชื้อในเซลล์ของมนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก
การกลายพันธ์ในตำแหน่ง K478R อาจทำให้สายพันธุ์นี้เอาชนะแอนติบอดีจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
สำหรับอาการของโควิด XBB.1.16 จะแตกต่างจากโควิดก่อนหน้านี้ โดยจะมีอาการ ไข้สูง ไอ และเยื่อบุตาอักเสบตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน และส่วนใหญ่อาการนี้จะพบได้ในเด็กมากขึ้น
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันจากประเทศอินเดีย สังเกตเห็นอาการจากการติดเชื้อ XBB.1.16 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ในอินเดียในกลุ่มเด็กทารก พบมีอาการไข้สูง อาการหวัด และไอ
จากนั้นพบอาการเด่น คือ มีเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการคันตา ขี้ตาเหนียว ทำให้ลืมเปลือกตาไม่ขึ้นแต่ไม่ได้เป็นหนองซึ่งไม่เคยพบอาการลักษณะนี้ในโอมิครอนสายพันธุ์อื่น แม้จะมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน XBB.1.16 เพิ่มขึ้น ถือเป็นสายพันธุ์ม้ามืดที่แพร่เร็ว แต่จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ยังไม่เพิ่มขึ้นตามจนเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขในแต่ละประเทศจะรองรับได้ จึงต้องติดตามเฝ้าระวัง เป็นการตระหนักแต่ไม่ตระหนก