"บิ๊กป้อม" ยกเคส "อภิสิทธิ์-อนุทิน-สุริยะ" เลือกตั้งพูดอย่าง หลังเลือกตั้งทำอีกอย่าง เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ชี้ "พปชร." จับกับใครอยู่ที่เงื่อนไขเฉพาะหน้า

19 เม.ย. 66 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กถึงการ "จัดตั้งรัฐบาล" ที่ดูจะยังเป็นประเด็นสับสน เกิดการพูดต่อๆกันไปมาก ว่า "พลังประชารัฐ" คิดอย่างไรกับการ "จัดตั้งรัฐบาล"

 

ผมคิดว่า "การจัดตั้งรัฐบาล" ต้องเริ่มจากผลการเลือกตั้ง คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นขั้นตอนแรก หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็น รวมกันแล้ว มีเสียง ส.ส.เกินกว่า 250 เสียง เพื่อเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คำถามใครคือ ผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า

 

พลเอกประวิตร โพสต่อว่า คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ในการจัดตั้งรัฐบาล มีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศตัวไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงการจัดตั้งรัฐบาลจริง ต้องเข้าร่วมด้วยเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่พอถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมโดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ แค่ให้คุณอภิสิทธิ์ลาออกไป โดยมีประโยชน์ของประชาชนมากมายมาใช้อ้าง

 

เช่นเดียวกับ "คุณอนุทิน ชาญวีรกุล" ให้สัมภาษณ์ในข่าวลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 ใจความสำคัญ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว. เลือกนายกฯ ลั่นอยู่คนละขั้วกับทหาร-พปชร. และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ในเนื้อหาข่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่าเฉลยแล้วปี 62 จับมือพปชร.ตั้งรัฐบาล เพราะผมไม่อยากอยู่กับระบบคสช.

 

ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เคยประกาศเอาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งหากได้เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายก็รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

ไม่ใช่เรื่องผิด หรือแปลกประหลาดอะไร อย่างที่บอกว่า หากมีประสบการณ์การเมืองมายาวนานเพียงพอจะรู้ว่า "นี่คือความปกติของการเมืองไทย" แม้ว่าสื่อและสังคมไทยจะไม่ยอมรับก็ตาม

 

ดังนั้น การเมืองไทยทุกเรื่อง จึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า ดังนั้น คำถามตอบว่า "พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน"


จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนามมติพรรคไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน จะไม่เป็นเช่นนั้น

 

ที่สำคัญ พลังประชารัฐจะตัดสินใจทุกเรื่อง ทุกอย่างด้วยเหตุผลต้องร่วมกัน "ก้าวข้ามความขัดแย้ง" ขอให้เชื่อมั่นว่า "เราจะตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของประเทศอย่างดีที่สุดได้"

 

พลเอกประวิตร ทิ้งท้ายด้วยว่า ตนจะเล่าข้อเท็จจริง เราจะได้ชัยชนะที่ไม่ต้องร้าวฉาน นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งตนทำสำเร็จแล้วในสภา โดยไม่ต้องกล่าวหาคนเห็นต่างว่าเป็นพวกชังชาติ โปรดติดตามใน Facebook ฉบับที่ 10 ครับ