ชาวบ้านที่กู้เงินกองทุนหมู่บ้านกว่า 20 รายแทบช็อก กู้หลักหมื่นถูกเรียกเก็บทั้งต้นและดอก 3-4 แสนร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

ชาวบ้านปราสาทเทพสถิตย์ อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์  ที่กู้กองทุนเงินล้านกว่า 20 รายแทบช็อก  หลังกู้หลักหมื่นแต่ไม่ได้ชำระตามกำหนดปีแรก ถูกเรียกเก็บทั้งต้นและดอกเบี้ย 3 – 4 แสนสูงเกินจริงหลายเท่า วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบช่วยเหลือ  ด้านกรรมการฯ แจงตามระเบียบปกติคิดดอกร้อยละ 5 ต่อปี แต่ไม่ชำระตามกำหนดจึงปรับร้อยละ 1 บาทต่อวัน หากมาเจรจาและจ่ายจริงก็ไม่ได้ปรับตามยอดที่ทวง 

 

(19 เม.ย.66) ชาวบ้านบ้านปราสาทเทพสถิตย์   ต.ช่อผกา  อ.ชำนิ   จ.บุรีรัมย์  ที่เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกว่า 20 คน  ได้นำหนังสือที่ทางคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ส่งมาติดตามทวงเงินกองทุนออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาตรวจสอบและช่วยเหลือ   เพราะในหนังสือติดตามทวงเงินที่กู้   ระบุให้ชำระทั้งเงินต้น  ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี    และเบี้ยปรับที่ผิดนัดชำระหรือไม่ชำระตามกำหนดอีกร้อยละ 1 บาทต่อวัน   ทำให้บางคนที่มียอดกู้เฉลี่ย 50,000 – 60,000 บาท  แต่ได้รับหนังสือทวงให้ชำระ 300,000 – 400,000 บาท    ซึ่งมองว่าไม่มีความเป็นธรรมทั้งที่เพิ่งชำระล่าช้าเป็นปีแรก  ที่ผ่านมาก็ชำระตรงตามกำหนดมาทุกปี   แต่พอจ่ายช้าแค่ปีเดียวกลับจะมาเรียกเก็บยอดที่สูงเกินความเป็นจริงหลายเท่าแบบนี้    ก็ทำให้ได้รับความเดือดร้อนไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาจ่าย    เพราะชาวบ้านแต่ละคนก็มีอาชีพทำนา รับจ้างทั่วไป  ที่กู้เงินกองทุนหมู่บ้านก็เพื่อไปหมุนเวียนลงทุน และใช้จ่ายในครอบครัว   และมีบางรายที่สามีเป็นคนกู้แต่กลับมีหนังสือทวงถามทั้งสามีและภรรยาด้วย   ทั้งที่ภรรยาไม่ได้เป็นคนกู้

โดยนายหลาง  อายุ 52 ปี  หนึ่งในชาวบ้านที่เป็นสมาชิกและได้รับหนังสือทวงเงินกู้  บอกว่า  ตนเองกู้เงินกองทุนหมู่บ้านจำนวน 55,000 บาท ทุกปีที่ผ่านมาก็ชำระมาโดยตลอด  เพิ่งมีปีนี้ที่ยังไม่ได้ไปชำระตามกำหนดคือวันที่ 5 มี.ค.66 เพราะหาเงินยังไม่ได้  แต่พอต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา  กลับได้รับหนังสือทวงเงินจากทางกรรมการกองทุนฯ   ให้ชำระทั้งเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย  และค่าปรับอีกร้อยละ 1 บาทต่อวัน  รวมเป็นเงินที่ถูกเรียกเก็บ 462,000 บาทก็แทบช็อก   เพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปจ่าย และมองว่าเป็นการเรียกเก็บที่ไม่เป็นธรรม   จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและช่วยเหลือด้วย

 

ด้านนายสมัน อายุ 69 ปี ชาวบ้านอีกราย บอกว่า  ตนกู้เงินกองทุน 45,000 บาท  ปีนี้เป็นปีแรกที่ไม่ได้จ่ายเงินตามกำหนดเพราะหาเงินไม่ทัน  แต่จู่ๆ ได้รับหนังสือทวงเงินจากทางกรรมการกองทุนฯ ส่งมาเป็นชื่อตนเอง 34,500 บาท ซึ่งน้อยกว่ายอดเงินที่กู้  แต่กลับมีหนังสือไปทวงเงินกับภรรยาตนเองด้วยอีกฉบับยอด  55,350 บาท  ทั้งที่ภรรยาไม่ได้เป็นคนกู้และภรรยาตนเองก็ป่วยต้องกินยาระงับประสาทด้วย  ก็รู้สึกงงและไม่สบายใจ   จึงได้พากันออกมาร้องเรียนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและช่วยเหลือ

 

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามนางปราณี ประธานกองทุนหมู่บ้านปราสาทเทพสถิตย์  ก็ชี้แจงว่า กองทุนมีคณะกรรมการทั้งหมด 9 คน   มีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกู้เงินกองทุนฯ  แยกเป็นกู้เงินล้านที่ 1 จำนวน 55 ราย  กองทุนล้านที่สอง 56 ราย   แต่ในจำนวนนี้มีสมาชิกที่ยังไม่ได้ชำระเงินกู้ตามกำหนด คือวันที่ 5 มี.ค.66  จำนวน 21 ราย  ทางกรรมการจึงได้ส่งหนังสือไปติดตามทวงถามตามระเบียบ   ซึ่งในหนังสือก็จะมีการแจ้งยอดให้ชำระเงินต้น  ดอกเบี้ยตามระเบียบร้อยละ 5 ต่อปี และเบี้ยปรับที่ผิดนัดชำระซึ่งเป็นมติที่ประชุมอีกร้อยละ 1 บาทต่อวัน   ซึ่งหลังจากได้รับหนังสือก็มีสมาชิกมาชำระเงินแล้ว 2 ราย  ซึ่ง 2  รายที่ได้รับหนังสือทวงและมาชำระ  ทางกรรมการก็ไม่ได้ให้จ่ายเบี้ยปรับร้อยละ 1 บาทต่อวัน ตามที่มีหนังสือทวงไปก็มีการพูดคุยเจรจากันและตกลงชำระค่าปรับเพิ่มนิดหน่อยเท่านั้น และก็ให้ผ่อนชำระด้วย  แต่ตอนนี้ยังสมาชิกที่ค้างชำระอีก 19 ราย   ก็อยากให้เข้ามาพูดคุยกันเพราะกรรมการก็ต้องทำตามกฎระเบียบ และต้องสรุปงบดุลประจำปีให้ทางอำเภอทราบทุกปี  เมื่อมีการค้างชำระก็ต้องทำหนังสือไปทวงถามตามระเบียบ แต่หากสมาชิกเข้ามาพูดคุยกับกรรมการก็ไม่ได้ให้จ่ายค่าปรับร้อยละ 1 บาทตามที่ทวงไปจริงๆ  แต่ส่วนเงินต้น และดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อปีก็ต้องจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้  แต่ชาวบ้านที่ได้รับหนังสือกลับไม่มาพูดคุยหรือสอบถามกรรมการเลย   แต่กลับนำเรื่องไปร้องเรียน