เปิดงบ 11,112 ล้านบาท "ครม." เห็นชอบเสนอ "กกต." ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้เท่าไหร่บ้าง ?

25 เม.ย. 66 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แถลงมติเห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด

 

แนวทางการช่วยเหลือ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกสูงขึ้น ดังนี้

 

1. มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566 (การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง) เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป แม้ราคาพลังงานโลกเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากช่วงปี 2565 โดยมีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยให้ส่วนลดแบบขั้นบันได แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566 ((1) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย) ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

 

2. มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้า และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ จำนวน 150 บาทต่อราย โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เพื่อเป็นลดภาระของประชาชนซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

 

เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา คณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด

 

โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนายกรัฐมนตรียืนยันถึงความพยายามของรัฐบาล ในแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแพงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลลดภาระให้แก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้า 1-300 หน่วย ครอบคลุมกว่า ร้อยละ 80 ครัวเรือน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของประเทศ โรงไฟฟ้าสีเขียว สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นคาร์บอน เครดิต ของประเทศ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตเชื่อว่า การใช้พลังงานสะอาดของไทยจะมีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพลังงานที่มาจาก fossil สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มโลกในการใช้พลังงานสีเขียว