"นายกฯ" ห่วงใยประชาชน หลังผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ของ สธ. ขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 รีบเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว เชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิดควบคู่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มความปลอดภัย
วันนี้ (26 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศไทยขณะนี้ และรับทราบสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ (วันที่ 16-22 เมษายน 2566) ตามรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ขอให้รีบเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านโดยเร็ว พร้อมสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 และการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 อย่างใกล้ชิด
นายอนุชากล่าวว่า จากข้อมูลกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยโควิด 19 ภายในประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16 - 22 เมษายน 2566) พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,088 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 73 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 35 ราย และผู้เสียชีวิต 5 ราย เฉลี่ยน้อยกว่า 1 คนต่อวัน ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 6,571 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) ผู้เสียชีวิต สะสม 278 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนกว่า 2 เท่า พบกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 อายุเฉลี่ย 75 ปี โดย 4 รายที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และอีก 1 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันจึงยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือ LAAB ได้เช่นกัน โดยติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
นายอนุชายังกล่าวถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้เผยข้อมูลของเชื้อโควิด XBB.1.16 ซึ่งเป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.10.1 และ BA.2.75 ว่า การระบาดมีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้น มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า XBB.1.5 ความสามาถในการหลบภูมิคุ้มกันได้ดี ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าทำให้โรครุนแรงขึ้น อาการที่พบคือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก อาจพบเยื่อบุตาอักเสบ คันตา ตาเหนียวร่วมด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่าอาการดังกล่าวเป็นลักษณะจำเพาะที่เกิดจากสายพันธุ์ XBB.1.16 ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า กรณีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลและหลายคนวิตกนั้น เป็นธรรมชาติของเชื้อไวรัสที่จะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา แต่ยังคงเป็นลูกผสมของสายพันธุ์โอมิครอนเดิม และไม่ได้มีความรุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเพิ่มขึ้น เป็นไปตามการคาดการณ์ของกรมควบคุมโรค และไม่ได้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกัน ทั้งจากการติดเชื้อและการได้รับวัคซีน
“นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้ติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์โควิด XBB.1.16 อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าการระบาดของโรคโควิด-19 จะสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยได้ปรับคำแนะนำแนวทางการฉีดวัคซีนใหม่ ให้เป็นการฉีดวัคซีนโควิดประจำปี จึงขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประจำปีก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใด หรือรุ่นใดก็ได้ โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน และไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด อีกทั้งสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง ยืนยันว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังมีความจำเป็นในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ประชาชนสามารถรับวัคซีนโควิดประจำปีได้ตามความสมัครใจ นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ระมัดระวังเลี่ยงการสัมผัสอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ควรสวมหน้ากากอนามัยหากต้องไปร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะเพื่อป้องกันตัวเองด้วย หากมีอาการ ไข้สูง ไอ เจ็บคอ ตาแดง ควรรีบตรวจ ATK และแยกตัวจากผู้อื่น” นายอนุชากล่าว
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ในกรุงเทพมหานครสามารถรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ กทม. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422