ย้อนรอยคดีฆาตกรรมหมู่ในนครชิคาโกปี 1982 โดยใช้ "โพแทสเซียมไซยาไนด์" ผสมลงไปในยาแก้ปวดยี่ห้อดัง
เรียกได้ว่าตอนนี้เรื่องราวที่กำลังเป็นกระแสทอล์กอ็อฟเดอะทาวน์ และทำให้ผู้คนกำลังหวาดกลัวเป็นอย่างมาก สำหรับคดี "แอม ไซยาไนด์" ที่มีพฤติการณ์นำไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารเคมีอันตราย ผสมใส่อาหารให้ผู้ตายรับประทาน เพื่อหวังลักทรัพย์สินมีค่าต่าง ๆ ของผู้ตาย ซึ่งคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกวางยาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย
อย่างไรก็ตามเรื่องการวางยาพิษ อย่าง "ไซยาไนด์" ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นบนโลก อีกทั้งยังมีให้เห็นตามการ์ตูนสืบสวนสอบสวนชื่อดังอย่าง "ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน" หรือแม้แต่ในซีรีย์เกาหลีก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยครั้ง
วันนี้ทีมข่าวออนไลน์ช่อง8 จะพาทุกคนไปย้อนดูคดีฆาตรกรรมหมู่ในนครชิคาโกปี 1982 โดยใช้ "โพแทสเซียมไซยาไนด์" ผสมลงไปในยาแก้ปวดยี่ห้อดัง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไล่เลี่ยกันจำนวน 7 รายหลังจากรับประทานยาแก้ปวดชื่อดังเข้าไป
ทั้งนี้ทางสำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ เอฟบีไอ มีรหัสคดีว่า "TYMURS" แม้เวลาจะล่วงเลยมานานพอสมควร แต่คดีนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปจวบจนบัดนี้ แต่ก็เป็นแรงผลักดันหนึ่งให้เกิดการปฏิรูปขนานใหญ่เกี่ยวกับการบรรจุเภสัชภัณฑ์และกฎหมายป้องกันการยืมมือฆ่า และนี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
โดยเมื่อเช้าตรู่ของวันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) เด็กหญิงวัย 12 ปี นาม "แมรี เคลเลอร์แมน" (Mary Kellerman) แห่งหมู่บ้านเอลก์โกรฟ นครชิคาโก คุกเคาน์ตี (Elk Grove Village, Cook County) รัฐอิลลินอย สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตอย่างกะทันหันหลังจากรับประทานยาแก้ปวดระดับความแรงพิเศษยี่ห้อ ดัง
ถัดมาไม่นาน แอดัม เจเนิส (Adam Janus) แห่งหมู่บ้านอาร์ลิงทันไฮส์ (Arlington Heights) นคร เคาน์ตี และรัฐเดียวกัน ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลท้องถิ่น และหลังจากนั้นไม่นานอีก สแตนลีย์ เจเนิส (Stanley Janus) แห่งหมู่บ้านไลล์ ดูปาชเคาน์ตี (Lisle Village, DuPage County) นครชิคาโก รัฐอิลลินอย ผู้เป็นน้องชายของแอดัม เจเนิส พร้อมด้วยเธเรซา เจเนิส (Theresa Janus) ภรรยาของสแตนลีย์ ก็เสียชีวิตตามไปด้วยในวันเดียวกันขณะกำลังร่วมพิธีศพของแอดัม เจเนิส ผลการสืบสวนพบว่าทั้งหมดเสียชีวิตเพราะรับประทานยาแก้ปวดกระปุกเดียวกัน
ในวันเดียวกันนั่นเอง "แมรี แมกฟาร์แลนด์" จากเมืองเอล์มเฮิสต์ รัฐอิลลินอยส์, พอลา พรินส์ และแมรี เรเนอร์ จากหมู่บ้านวินฟีลด์ รัฐเดียวกัน เสียชีวิตลงหลังจากทานยาแก้ปวดยี่ห้อเดียวกัน
พนักงานสืบสวนพบว่าการตายทั้งหมดในนครชิคาโกล้วนเชื่อมโยงกัน โดยมียาแก้ปวดยี่ห้อดังเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลท้องถิ่นออกประกาศเตือนทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์กระจายภาพ และเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถตระเวนไปตามบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนเพื่อแจ้งเตือน
ยาแก้ปวดที่เป็นปัญหานั้นส่งมาจากโรงงานที่แตกต่างกัน แต่ด้วยความที่เหตุการณ์ตายไล่เลี่ยกันนี้เกิดขึ้นในท้องที่เดียวกัน เจ้าหน้าที่จึงจับจุดได้ว่าน่าจะเกิดความผิดปกติในระหว่างกระบวนการผลิตยา แต่ก็ยังไม่ละข้อสันนิษฐานว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดีอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์เข้าไป ยังห้างร้านต่าง ๆ และสับเปลี่ยนกระปุกยาแก้ปวด จากชั้นด้วยกระปุกยาแก้ปวดที่มีไซยาไนด์ปลอมปนอยู่แทน นอกเหนือไปจากยาห้ากระปุกที่นำพาความตายไปสู่ผู้เคราะห์ร้าย 7 รายข้างต้นแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบยาอีกสามกระปุกที่มีสารพิษปลอมปนก่อนจะถูกเปิดอีกด้วย
ทั้งนี้ทางต้นสังกัดผู้ผลิตยาแก้ปวดดังกล่าวมีประกาศเตือนไปยังโรงพยาบาล สถานอนามัยต่าง ๆ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตน และในวันที่ 5
ตุลาคม 1982 ได้เรียกเก็บผลิตภัณฑ์ยาแก้ปวดทั้งหมดทั่วประเทศกลับคืนสู่บริษัท และสั่งพักโฆษณายาแก้ปวดชั่วคราว
ยาที่ถูกเรียกคืนมีจำนวนกว่าสามสิบเอ็ด ล้านกระปุก คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทต้นสังกัดยังแถลงทางสื่อมวลชนเตือนประชาชนทั้งหลายให้ หยุดบริโภคผลิตภัณฑ์ชั่วคราว ทั้งนี้ทางบริษัทยังได้ปฏิรูปการบรรจุเภสัชภัณฑ์ไทลินอลโดยเปลี่ยนจากแบบแคปซูลไปเป็น แบบเม็ดแข็งทั้งหมด และยังรับแลกยาแบบแคปซูลที่มีการซื้อไปแล้วเป็นแบบเม็ดแข็งให้ด้วย
ในส่วนของผู้ต้องสงสัยกระทำการดังกล่าวพบว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผิดตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ต่อมาทางบริษัทได้ตั้งรางวัลนำจับผู้ก่อการสังหารหมู่ด้วยยาแก้ปวดดังกล่าวเป็นเงินสูงถึงหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิดได้สักทีจนบัดนี้ นอกจากนี้ยังดำเนินการกู้ชื่อเสียงบริษัทเป็นระยะ โดยใช้สื่อการประชาสัมพันธ์และโฆษณา เพื่อแก้ปัญหาในช่วงวิกฤต แต่ต้องใช้เวลามากถึง 7 ปีในการกู้ชื่อเสียงแบรนด์คืนมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามโศกนาฏกรรมในนครชิคาโก ยังส่งผลให้มีเหตุการณ์เลียนแบบผุดตามขึ้นมาอีกเป็นจำนวนหนึ่งในปี 1983 บรรดาผู้ประกอบการเครื่องบริโภคต่าง ๆ ต้องพากันหาหนทางปฏิรูประบบและวิธีการบรรจุภัณฑ์เพื่อป้องกันการลักลอบเจือปนสิ่งไม่พึงประสงค์ลงในสินค้า และอุตสาหกรรมทางเภสัชภัณฑ์หลีกเลี่ยงไม่ผลิตสินค้าในรูปแคปซูลเพราะการเปิดหลอดแคปซูลออกแล้วเจือสิ่งแปลกปลอมลงไปในนั้นสามารถกระทำได้โดย ง่าย และโดยไม่ทิ้งร่องรอยพิรุธไว้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมายให้ถือว่า คดีเกี่ยวกับการเจือปนสารพิษในเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอาชญากรรมระดับชาติ และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาก็ตราระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการกระทำ ผิดในรูปแบบนี้ ซึ่งระเบียบดังกล่าวส่งผลให้ "แคปเลต" (Caplet) หรือยาเม็ดแข็งที่ทำเป็นรูปแคปซูล เข้ามาแทนที่แคปซูลซึ่งเป็นปลอกพลาสติกบรรจุแป้งยาภายใน