กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้ง 4 จังหวัดภาคใต้อันดามัน เตรียมรับมือคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 11-16 พ.ค. 66
วันที่ 11 พ.ค.66 เวลา 10.00 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เตรียมรับมือคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 11 -16 พ.ค.66 กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (140/2566) ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในช่วงวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2566 ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในช่วงวันที่ 11 - 15 พฤษภาคม 2566 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร และมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นในวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2566 ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมี 4 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 11 - 16 พฤษภาคม 2566 ได้แก่
- ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์)
- พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี)
- ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง)
- กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือคลื่นลมแรงที่อาจเกิดขึ้นโดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง
นอกจากนี้ ยังได้ประสานให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่ากองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือในระยะนี้
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป