งานเข้ารองอ๊อฟ ซ่อนกระเป๋าก้อยส่งต่อพยาน ญาติเหยื่อวอน "แอม" หยุดใส่ร้ายศพ
ความคืบหน้าคดี "แอม ไซยาไนด์" ผู้ต้องหาในคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน 14 คดีและพยายามฆ่าผู้อื่นอีก 1 คดี รวม 15 คดี ภายในทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นครั้งที่ 3
โดยพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการสอบสวนแอม ว่า เบื้องต้นแมยอมรับว่าแบ่งไซยาไนด์แบบผงให้ก้อย อ้างว่าจะเอาไปผสมยาเสพติด เช่นเดียวกับนายแด้ สามีใหม่ และอ้างว่าได้ไซยาไนด์มาจากนายแด้ แต่แอมไม่ได้ยอมรับว่าฆ่า
วันนี้ พันตำรวจโทวิฑูรย์ รองอ๊อฟ อดีตสามีของแอม เข้าพบพนักงานสอบสวนชุดสืบสวนคลี่คลายคดี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาทำลายพยานหลักฐาน
เนื่องจากพบว่าพันตำรวจโทวิฑูรย์ นำกระเป๋าของก้อย นำไปซ่อนไว้ก่อนสุดท้ายจะพบว่าถูกส่งไปที่นางสาวแก้ว ในจังหวัดเพชรบุรี
ตำรวจได้คุมตัวพันตำรวจโทวิฑูรย์ มาในห้องประชุม ก่อนที่จะพาไปขึ้นห้องสอบสวนบนชั้น 3 ของอาคารกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 โดยพันตำรวจโทวิฑูรย์ ไม่ยอมตอบคำถามของสื่อมวลชน ที่พยายามถามถึงการถูกเชิญเข้าไปพูดคุยกับแอมในเรือนจำ รวมทั้งการนำกระเป๋าไปซุกซ่อนไว้ และถูกคุมตัวเข้าไปในห้องสอบสวนทันที ซึ่งมีพนักงานสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 7 และกองปราบปราม ร่วมกันสอบปากคำ และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ก่อนจะปล่อยตัวกลับไป เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
ขณะที่รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำผลของการตรวจสอบสารเคมี ที่ตรวจยึดได้ จากการตรวจวัตถุพยานจำนวน 296 รายการ จาก 18 ครั้ง ที่ชุดสืบสวนได้ส่งมาให้ตรวจสอบ มามอบให้ตำรวจหลังจากได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว
โดยในจำนวนนี้พบว่ามีไซยาไนด์ปะปนอยู่ ซึ่งเป็นสารที่ไม่เจอในธรรมชาติ แต่เป็นสารสังเคราะห์ขึ้นมา สั่งซื้อมาแบบเฉพาะเจาะจงลักษณะเป็นเกล็ดคล้ายเกลือ ซึ่งเป็นสารพิษที่สามารถดูดซึมเข้าร่างกายได้ และเสียชีวิตได้รวดเร็วภายใน 1-2 นาที ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับแอม หรือไม่ต้องรอให้ชุดสืบสวนตรวจสอบก่อน
ส่วนการรับสารภาพของแอม ที่ให้ปากคำล่าสุดที่อ้างว่าใช้ไซยาไนด์ผสมกับสารเสพติด รองศาสตราจารย์วีรชัย เห็นว่าผู้ต้องหามีที่ปรึกษาที่มีความรู้อยู่ภายนอก และพอรู้แนวทางการต่อสู้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการต่อสู้ในลักษณะนี้คดีในประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับสารไซยาไนด์ไม่สามารถมาใช้ผสมกับยาเสพติดได้เนื่องจากเป็นยาพิษ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีปี 2565 ได้มีคำสั่งให้ควบคุมการนำเข้าสารตั้งต้นยาเสพติด 3 ชนิด คือ เบนซิลคลอไรด์ เบนซิลไซยาไนด์ และโซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งทั้ง 3 ชนิด ก่อนหน้านี้พบว่ามีการนำเข้าผ่านประเทศไทยไปผลิตยาเสพติดในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนจะถูกนำส่งกลับมาขายในไทย จึงมีคำสั่งให้ควบคุมสารดังกล่าว ซึ่งวันนี้ก็จะนำข้อมูลดังกล่าวให้ชุดสืบสวนพิจารณาถึงการดำเนินคดีของแต่ละคดีที่ตรวจพบ
รองศาสตราจารย์วีรชัย ระบุว่า หากกินไปเพียง 10 มิลลิกรัมก็เสียชีวิตทันที ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมีทักษะ หากประเมินแล้วแอม ไม่สามารถกระทำได้อย่างแน่นอน
สำหรับการตรวจหลักฐานที่ตำรวจส่งมาให้ในรอบที่ 3 พบว่ามีหลักฐานที่ตรวจพบไซยาไนด์ชัดเจน ส่วนยาแก้พิษไซยาไนด์ ในช่วงแรกก็ยังไม่ทราบว่าเป็นสารแก้พิษ แต่เมื่อได้ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ก็พบว่าสารชนิดนี้เป็นสารที่ใช้แก้พิษดังกล่าว ส่วนรายละเอียดของการตรวจสอบขอให้ตำรวจเป็นผู้เปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากเป็นข้อมูลทางคดี
ขณะเดียวกัน พลตำรวจเอกชินภัทร สารสิน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าแอมรับสารภาพว่ามีการนำสารไซยาไนท์ ไปให้กับผู้เสียหายใช้เสพร่วมกับยาเสพติดจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชีวิต
ประเด็นนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบดูแลงานยาเสพติด ยืนยันว่า จากประสบการณ์ของตนเองไม่เคยพบว่ามีการนำสารไซยาไนด์ มาผสมกับยาเสพติด หรือนำไปเป็นสารตั้งต้นในการทำยาเสพติด เนื่องจากศาลดังกล่าวเป็นสารที่มีความอันตรายรุนแรง หากนำมารวมกับยาเสพติดซึ่งเดิมก็มีพิษรุนแรงอยู่แล้ว ก็จะอาจจะทำให้ผู้ที่เสพเสียชีวิต จึงไม่เคยพบว่ามีการนำสารดังกล่าวมาผสมกับยาเสพติดแต่อย่างใด
พลตำรวจเอกชินภัทร รองผบ.ตร.เชื่อว่าการที่มีการกล่าวอ้างในลักษณะนี้ของผู้ต้องหาอาจจะต้องการเชื่อมโยงให้ ให้มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและอาจยกเหตุว่าผู้เสียชีวิตเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดก็เป็นได้
ทีมข่าวช่อง8 สอบถามเรื่องนี้กับคุณส้ม พี่สาวของก้อย ยืนยันว่า ก้อยไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นคนขยันทำมาหากิน
ะี่สาวก้อย ยังฝากไปถึงแอมด้วยว่าที่ผ่านมา ครอบครัวเจ็บปวดกับเรื่องนี้ ยังมาพูดจาใส่ร้ายก้อยอีก