ก้าวไกลชนไม่สน ส.ว. โหวตให้ มั่นใจเพื่อไทยไม่หักหลัง ถ้าป่วน ส.ว. คือต้นเหตุ
เกาะติดเรื่องประเด็นการเมือง โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ที่ถูกจับตามองอย่างมาก ในเรื่องนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ ไอติม ว่าที่ส.ส.ปาร์ตี้ลิตส์ พรรคก้าวไกลได้โพสต์ข้อความเป็นจดหมายเปิดผนึก เนื้อหาใจความสำคัญกล่าวถึงส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
รายการลุยชนข่าว วิดีโอคอล "ไอติม" พูดคุยประเด็นดังกล่าวในรายการในหลายประเด็น
โดยเบื้องต้น คุณไอติม ขอชี้แจงข้อเรียกร้องทางก้าวไกลก่อน ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งนี้และตั้งแต่ทำพรรคมา คือต้องการให้ส.ว. ยกเลิกอำนาจในการเลือกนายกฯ คือนิยามคำว่าปิดสวิตช์ส.ว. ซึ่งตลอด 30 ปีที่ผ่านมามีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีหลายร่าง ที่ผ่านมาเคยเสนอร่างไป 3 ครั้ง แต่ไม่ผ่าน นั่นคือนิยามปิดสวิตซ์ส.ว.ไม่ได้
โดยคุณไอติม ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีควรมาจากการโหวตจากส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่ในเมื่อไม่สามารถปิดสวิตช์ส.ว.ตรงนี้ได้ ดังนั้น ส.ว. ควรที่จะโหวตนายกรัฐมนตรี ตามเสียงมติข้างหน้าของประชาชน
จากกรณีข้อคำถามว่าทางพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับเสียงข้างน้อย แล้วโหวตเลือกนายกฯ อย่างนี้ถือว่าทำได้ใช่หรือไม่?
"โดยส่วนตัวคิดว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทยก่อน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยประกาศชัดเจน ที่จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ซึ่งมีการประกาศชัดเจนว่า จะไม่ได้มีการไปตั้งรัฐบาลแข่ง และพร้อมที่จะเลือกพรรคก้าวไกลในฐานะที่ได้ส.ส.เป็นอันดับ 1
ในขณะเดียวกันยังคิดว่าตอนนี้ทางพรรคก้าวไกลบวกพรรคเพื่อไทย บวกพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำงานมาได้เสียงประมาณ 310 เสียงซึ่งเกินกว่า 250 เสียงมาพอสมควร และมั่นใจว่า 60 กว่าเสียง ที่จะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกฯ ก็จะได้มาในวันที่มีการโหวตนายกฯ ส่วนสำคัญเชื่อว่าจะมีส.ว. ที่ให้การสนับสนุนเคารพหลักการประชาธิปไตยสนับสนุนนายพิธาในวันดังกล่าว
โดยเฉพาะบุคคล 2 กลุ่มคือกลุ่มแรกส.ว.250 คน แม้จะมีส.ว.กับคนบางคนออกมาแสดงเจตจำนงว่าจะไม่โหวตให้ แต่เชื่อว่าไม่เป็นความเห็นของส.ว. ทั้งหมด และพบว่ามีส.ว.บางคนที่ออกมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนไหนก็ได้ที่ได้ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ของสภาผู้แทนราษฎร
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจไม่ได้อยู่ในพรรครัฐบาลแต่อาจจะเห็นว่าส.ว. ไม่ควรมาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจจะยกมือให้ โดยที่ตัวเองไม่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล"
หากสมมติว่าหวัง 66 เสียงจะมีจากส.ว. รวมถึงส.ส. โหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร?
"โดยส่วนตัวยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ แต่เอาข้อเท็จจริงก่อนปัจจุบันพรรคก้าวไกลมีส.ส.152คน พรรคเพื่อไทยมีส.ส. 141 คน พรรคเพื่อไทยออกมายืนยันชัดเจนแล้วว่า จะสนับสนุนนายพีธาเป็นนายกฯ ซึ่งรวมกันแล้ว 293 เสียง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากส.ว.ไปสนับสนุนคนอื่นเป็นนายกฯ แสดงว่านายกฯคนนั้นมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมี500คน ก็ไม่สามารถผ่านกฎหมายใดๆได้เลย รู้ว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจับมือกันแล้ว จะไม่สามารถเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้"
หากวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ได้จับมือร่วมด้วย และในวันที่โหวตนายกฯ อาจจะมีคะแนนเสียงไม่ถึง ที่จะได้รับเลือกนายกฯ จนต้องมีการเลือกพรรคอันดับ2หรือไม่?
"ในประเด็นนี้คงต้องถามกับทางเพื่อไทยเพื่อความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทย แต่ขอยึดคำพูดของพรรคเพื่อไทยในวันนี้"
พรรคก้าวไกลจะยอมให้พรรคอันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ถ้าสุดท้ายแล้วโหวตนายกฯกี่รอบก็ไม่ได้ เพื่อให้บ้านเมืองไม่ถึงทางตันก็ให้พรรคที่ 2 จัดตั้งรัฐบาลต่อไป?
"ถ้าเป็นสถานการณ์ที่ส.ว.จะโหวตให้กับนายกที่ไม่ได้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรโดยส่วนตัวคิดว่าคนที่พาประเทศไปถึงทางตันไม่ใช่พรรคก้าวไกล คนที่พาประเทศไปถึงทางตัน ก็คือส.ว.250 คน"
ถ้าสมมติขอไม่ให้แก้มาตรา 112 ลดได้หรือไม่ เชื่อว่าน่าจะมีคนสนับสนุนเพิ่มขึ้น?
"ลดไม่ได้หรอก ยืนยันคำเดิมตามนโยบายที่ให้ไว้กับประชาชน คือการแก้มาตรา 112 ก็ต้องทำตามสิ่งที่สัญญาไว้กับประชาชน ไม่มีทางที่จะไปผิดก็พูดกับที่เราให้ไว้กับประชาชน โดยส่วนตัวยืนยันว่ามีการยกเลิกยกเลิก 112 เชื่อว่าส.ว.คนอื่นที่อาจจะไม่เสียงดังเท่า รู้ว่านโยบายของพรรคก้าวไกลคืออะไร มีเจตนารมณ์แบบไหน ส.ว.ทุกท่านมีสิทธิ์ไม่ชอบพรรคก้าวไกล คิดว่าพรรคเข้าไปไม่ได้ตอบโจทย์อนาคตประเทศนี้ แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน"
ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลกระทรวงกลาโหม ใครจะเป็นคนคุม เป็นคนของพรรคก้าวไกลใช่หรือไม่?
"คือตอนนี้ฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างทำการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นอยู่ แต่ขอย้ำในประเด็นที่สามารถพูดได้ในตอนนี้ สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เรื่องของตำแหน่ง พรรคก้าวไกลจะมั่นใจว่าจะขับเคลื่อนนโยบายไปต่อได้ เช่นกระทรวงกลาโหม ถึงแม้ในอนาคตทางพรรคก้าวไกลจะไม่ได้ทำตำแหน่งนี้ แต่ก็สามารถทำงานร่วมกับพรรคการเมืองอื่นเราก็ยินดี สิ่งที่เป็นสาระสำคัญคือ MOU ที่เราจะทำร่วมกับพรรคอื่นที่มาร่วมรัฐบาลที่มาทำร่วมกันมา ทำนโยบายร่วมกัน ที่จะขับเคลื่อนรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้นายพิธาเคยออกมาพูดว่าอาจจะนั่งตำแหน่งกระทรวงกลาโหมด้วย ซึ่งตรงนี้ก็คิดว่านายพิธาก็ยินดีอยู่แล้ว แต่ต้องรอดูการพูดคุยกับพรรคกับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่"