"รังสิมันต์" เชื่อปิดสวิซต์ม. 272 ได้หากทุกฝ่ายยึดหลักการ ย้ำสถานการณ์ต่างปี 62 ก้าวไกลรวมเสียงได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของ ส.ส. แล้ว เตือน ส.ว. เปิดคณะทำงานสอบพิธา-ก้าวไกล เป็นธงการเมืองที่ใช้เงินรัฐ ย้ำ "ไม่ชอบพิธา ไม่เป็นไร แต่ขอให้ยึดหลักพรรคอันดับหนึ่ง"

17 พ.ค. 66 นาย รังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงยุทธศาสตร์การรวมเสียง ส.ว.ในการจัดตั้งรัฐบาลว่า เอาเข้าจริงสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำอยู่ เป็นการปิดสวิตซ์มาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการปิดสวิตซ์มาตราดังกล่าวเป็นการเปิดให้จัดตั้งรัฐบาลตามกลไกปกติ ซึ่งบางคนอาจลืมไปแล้วว่ากลไกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร

 

โดยเป็นการที่พรรคการเมืองรวมเสียงในสภาให้มากเกิน 250 ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ประกอบกับการที่ตอนนี้พรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงได้กว่า 310 เสียง เรากำลังมีรัฐบาลที่แข็งแรงมาก ที่สามารถผลักดันนโยบายได้ ดังนั้นสิ่งที่กำลังทำคือการคืนกลไกปกติให้กับสังคม ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน รวมถึง ส.ว. และพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อยืนยันหลักการโหวตนายกฯ เสียงข้างมาก ซึ่งผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ได้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าพรรคที่ได้อันดับ 1 เป็นพรรคไหน หากเราเคารพกติกาและเจตจำนงของประชาชน ก็สามารถไปต่อได้

 

ส่วนที่ ส.ว. อยากให้ ส.ส.รวบรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง นั้น รังสิมันต์ มองว่า การปิดสวิตซ์มาตรา 272 คือความพยายามตั้งแต่ตอนแก้รัฐธรรมนูญ เป็นการปิดสวิตซ์ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ แต่ความเป็นจริงแล้วต่อให้มาตรา 272 ไม่ถูกปิด แต่อีกไม่นานก็จะถูกปิด คำถามคือทำไมเราไม่สร้างบรรยากาศให้เดินต่อ สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชน แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ อยู่แล้ว แต่วัฒนธรรมทางการเมืองต้องให้พรรคอันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการที่ ส.ว.แสดงความเห็นว่าให้ไปรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่เคารพเสียงของประชาชนที่ไปเลือกตั้ง

 

“การโหวตเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ ผมเข้าใจว่ามีความไม่ชอบกันอยู่ ไม่ชอบนโยบาย ไม่ชอบอะไร แต่อันนี้คือการปลดล็อคกฎหมาย เพื่อให้ความต้องการของประชาชนที่มากที่สุดได้รับการตอบสนอง อย่าสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้สุดท้าย ประเทศเกิดคำถามว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ฟังเสียงประชาชน”

 

เมื่อถามว่าการโน้มน้าวฝั่งตรงข้ามง่ายกว่าหรือไม่ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ก็แสดงความคิดเห็นว่าจะช่วยโหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี รังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องพูดคุยกับทุกฝ่าย ถ้าลองดูคนที่เคยโหวตปิดสวิตซ์มาตรา 272 ใน ส.ว. ก็มีหลายสิบคน นอกจากนี้ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ทุกฝ่ายมีส่วนที่จะสร้างบรรยากาศให้ประเทศเดินต่อได้ อยากให้มองว่าการปิดสวิตซ์มาตรา 272 กับการจัดตั้งรัฐบาลเป็นคนละส่วนกัน เพราะการจัดตั้งรัฐบาลต้องลงเรือลำเดียวกัน ต้องเอานโยบายแต่ละฝ่ายเข้ามาหารือ ซึ่งการเลือกนายกฯ เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ควรมีตั้งแต่ต้น ตนไม่อยากขอร้องอะไรจากใคร แต่คือการช่วยกัน เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชน

 

เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล แต่งตั้งใครไปพูดคุยกับ ส.ว. หรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า เรามีคีย์แมน และกรรมการบริหารพรรค ที่ต้องประชุมร่วมกัน แต่ขอยังไม่บอกว่าเป็นใคร คณะกรรมการบริหารพรรคมีการพูดคุยกันตลอดเวลาแต่การเจรจากับ ส.ว. ไม่สามารถยก กก.บห. ไปได้ทั้งชุด คงมีการยกหูโทรศัพท์พูดคุย ส่วนตัวเข้าใจว่า ส.ว.มีการประชุมกันเองด้วย พรรคก้าวไกลก็มีการเปิดรับ ซึ่งนายพิธา ย้ำมาตลอดว่า ไม่ต้องการเป็นรัฐบาลเฉพาะของคนที่เลือกเรา แต่ต้องการเป็นรัฐบาลของคนทุกคน

 

ส่วนที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบนายพิธา และพรรคก้าวไกล หลายประเด็น เช่น การถือหุ้นสื่อ และนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นั้น รังสิมันต์ มองว่า พรรคก้าวไกลยินดีที่จะถูกตรวจสอบ แต่ไม่ต้องการให้มีจุดมุ่งหมายในการทำลายกันทางการเมือง เพราะการประชุม กมธ. เป็นกลไกของรัฐ มีการเบิกจ่ายเบี้ยประชุม จึงมองว่าไม่เหมาะสมที่ใช้ทรัพยากรของรัฐโดยมีธงทางการเมืองของตนเอง

 

ส่วนนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ตนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมถึงเพิ่งมาตรวจสอบทั้งที่พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเป็นปีๆ และกรณีถือหุ้นของนายพิธา ก็ไม่มีความกังวล เพราะ ITV ยุติการออกอากาศไปเป็นเวลานาน และมีบรรทัดฐานจากอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ การถือหุ้นเพียง 0.03% ไม่มีทางไปครอบงำสื่อได้

 

ส่วนที่ปี 2562 บอกว่าหาก ส.ส.รวมเสียงได้มากกว่า 251 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่รอบนี้กลับแสดงความคิดเห็นต่างออกไป รังสิมันต์ เห็นว่า เขาอาจไม่คิดว่าพรรคก้าวไกลจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งตอนพูดคงพูดไปตามหลักการ แต่พอเจอหน้านายพิธา และพรรคก้าวไกล อาจจะกังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

 

เมื่อถามว่า กังวลจะเป็นเดตล็อคทางการเมืองหรือไม่ หาก ส.ว. งดออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี จนพรรคก้าวไกลต้องถอยให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรีแทน รังสิมันต์ มองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ ซึ่งสถานการณ์บ้านเมืองของ 4 ปีที่แล้วกับตอนนี้ไม่เหมือนกัน เพราะ 4 ปีที่แล้วเรารวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งไม่ได้ แต่ครั้งนี้เกินกึ่งหนึ่งไปแล้ว ส่วนกรณีที่สองคือ ส.ว.กำลังจะหมดวาระในปีหน้า จึงเกิดคำถามว่าจะยื้อแบบนี้ไปถึงเมื่อไร และการทำให้พรรคก้าวไกลไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ไม่มีประโยชน์อะไร

 

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีพรรคไหนบ้าง รังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ต้องพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นหลักก่อน ส่วนมาตรา 112 ที่หลายฝ่าย มีมุมมองบางอย่างที่ไม่ตรงกันนั้น ตนเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่จะคุยกันไม่ได้ อย่างในเวทีดีเบตหาเสียงมีการคุยกันมากกว่าในสภาเสียอีก ตนจึงมองอย่างมีความหวัง ว่าจะมีจุดร่วมในการแก้ปัญหา

 

เมื่อถามว่าในวันโหวตนายกรัฐมนตรีอาจมีการชุมนุมของประชาชน รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจว่าเหตุการณ์จะไปถึงขนาดนั้น ซึ่งช่วงนี้หากไปถามพรรคการเมืองแต่ละพรรคก็พอทราบว่าแต่ละพรรคจะโหวตอย่างไร เชื่อว่าประชาชนไม่อยากลงถนน ดังนั้นอย่าให้เกิดบทเรียนแบบนั้นเลย เราน่าจะช่วยกันทำให้ผลการเลือกตั้งถูกเคารพ ส่วนจะเกิดการรัฐประหารหรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ในค่ายทหารยังมีการโหวตในพรรคก้าวไกล เชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็นการเกิดรัฐประหาร ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ