"เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน" เห็นด้วย "ส.ว." ควรโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงข้างมากส.ส. แนะรัฐบาลก้าวไกลยังมีเวลา 60 วัน เร่งหาเสียงส.ว.และส.ส. ที่เหลือ ดักคอ "บิ๊กตู่" ปล่อยให้เป็นหน้าที่พรรคจัดตั้งรัฐบาล ดีลส.ว. เอง
18 พ.ค. 66 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) , ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต , รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเดียว มหาวิทยาลัยบูรพา และ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแถลงในนามเครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.ปริญญา นำแถลงด้วยการเปิดเผย ผลโหวตเสียงประชาชน ที่เห็นด้วยว่า ส.ว.ควรเคารพเสียงประชาชน โดยโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามเสียงข้างมากของ ส.ส. ตั้งแต่ 15-18 พ.ค. มีผู้โหวต 3,487,313 ครั้ง ที่เห็นด้วย 85% ไม่เห็นด้วย 15% นี่คือการลงประชามติของภาคประชาชน นับเป็นแลนด์สไลด์ของประชาชน ทั้งนี้พบความผิดปกติ และน่ากังวลใจ เพราะจากเดิม มีประชาชนเห็นด้วย 93% แต่ ก่อนปิดโหวต 12 ชั่วโมง พบว่ามีการโหวตพร้อมๆ กัน 3 แสนครั้ง ทำให้ ผลโหวตเหลือ 85% คล้ายกับมีความจงใจ ทำให้ผลโหวตของประชาชนลดลง
ทั้งนี้เครือข่ายมีข้อเสนอแนะต่อ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ต่างจาก ส.ส. ที่ได้ฉันทามติจากประชาชน ส.ว. จึงควรยิ่งต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ควรทุ่มเถียงและเดี่ยงงอน บอกว่าประชาชนอย่ากดดัน เพราะเป็นเรื่องส่วนรวม ที่ประชาชนเจ้าของประเทศ มีสิทธิ์ส่งเสียงได้ และยังมีเวลาอีก 60 วัน ให้ว่าที่รัฐบาลเสียงข้างมาก ที่จะจัดตั้งรัฐบาล หาเสียงครั้งที่สอง ชี้แจงนโยบาย กับ ส.ว. และส.ส. ที่เหลือ
นอกจากนี้บทบาทหน้าที่ของกกต. นับได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนคลางแคลงใจ การทำหน้าที่ของ กกต. มากที่สุดยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ดังนั้นกกต. ต้องประกาศผลและรับรอง ส.ส. ให้คนเชื่อมั่นอย่างเที่ยงธรรม ไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากผู้ใดมีปัญหาคุณสมบัติ ก็ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ไม่ใช่ตัดสินเอง
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย มองว่า การรับรองส.ส. ในไทย ที่พิศดาร กว่ารับรองต้องใช้เวลา 2 เดือน ยาวนานมาก ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อออกไป ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้น กกต. ช่วยได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพ เร่งรับรองผลเลือกตั้งโดยเร็ว และเที่ยงธรรม ไม่เกิน 1 เดือน เชื่อว่าจะกอบกู้ชื่อเสียงของกกต. มาได้บ้าง เพื่อให้การเมืองไทยเดินหน้าด้วยเร็ว ส่วน ส.ว. แม้มีประวัติการกระทำอาจดูไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของประชาชนในอดีต แต่หลังเลือกตั้ง เห็น ส.ว. จำนวนไม่น้อย ที่ออกมาเคารพเสียงประชาชน เชื่อว่า ส.ว. ที่เหลือจะฟังเสียงประชาชน เพราะถ้าประเทศไทย สามารถเดินไปตามครรลองของประชาธิปไตย เราก็จะมีศักดิ์ศรีมากขึ้นในเวทีโลก และยังจะสามารถช่วยป้องกันความขัดแย้งภายในประเทศด้วย หากทำได้ ส.ว.ก็จะสามารถ กอบกู้ภาพลักษณ์ได้ไม่มากก็น้อย
ด้าน ร.ศ.ดร.โอฬาล ขอ ส.ว. อย่ากังวลใจ เพราะยังเหลือวาระอีก 1 ปี ในการกำกับการดำเนินงานของรัฐสภา ดังนั้นควรฟังเสียงของประชาชน เราต้องช่วยกันเอาฟืนออกจากกองไฟ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้แสดงฝีไม้ลายมือ ยิ่งยื้อ ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ
ด้าน รศ.ดร.ธนพร มองว่า คนไทยทำสำเร็จแล้ว คือ การจัดตั้งรัฐบาลโดยลำดับคะแนน และปิดสวิตช์ รัฐบาลเสียงข้างน้อย และมองว่าท่าทีของนายพิธา ที่จะไปหารือกับ ส.ว. ในวันที่ 23 พ.ค. ถือเป็นทิศทางที่ดี และมองว่า วันนี้ ที่พ.ร.ฎ.อุ้มหาย ของรัฐบาล ถูกศาลรธน. วินิจฉัยว่าขัดต่อ รธน. ดังนั้น ต้องถามต่อถึงความรับผิดชอบของรัฐบาล ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ช่วงท้าย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าสถึงการปิดสวิชต์ ส.ว. ว่าไม่ใช่การงดออกเสียง แต่คือไม่รับรอง รัฐบาลที่ได้เสียงมาจากประชาชน และอย่าให้เขารวมเสียงถึง 376 เสียงเลย เพราะจะทำให้ถูกมองเป็นเผด็จการรัฐสภาได้ ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการส่งสัญญาณไปถึงส.ว. นั้นย้ำว่า ในการขอเสียง ส.ว. ให้เป็นเรื่องของพรรคแกนนำรัฐบาล
นอกจากนี้ผศ.ดร.ปริญญา ยังตอบคำถาม สื่อมวลชน ถึงการถือหุ้นสื่อ ITV ของนายพิธา ว่า หากจะมีการพิจารณากกต. ก็ควรส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ควรดำเนินการเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง เท่านั้น พร้อมชี้ว่าในทางกฏหมาย หัวหน้าพรรคการเมืองไม่ได้ระบุ ว่า หัวหน้าพรรคต้องเป็น ส.ส. ดังนั้น การเซ็นรับรองคุณสมบัติผู้สมัครส.ส. ของนายพิธา จึงไม่เกี่ยวข้องกับสถานะความเป็น ส.ส. ของนายพิธา แต่อย่างใด
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย ย้ำว่า ส.ว. ท่านใด ที่จะปิดสวิชต์ แนะนำให้ลาออก จะได้ไม่เป็นภาระในการหาร เพราะหากพ้นตำแหน่ง จำนวนก็จะหักออก ตามกฎหมาย
ขณะที่รศ.ดร.โอฬาร ยังชี้ว่า เราเคยเห็นพฤษภาทมิฬประวัติศาสตร์ได้บอกไว้แล้วว่า ถ้าไม่ทำตามเจตจำนงของประชาชนท่ามกลางความครุกกรุ่นของแรงกดดันที่มีการตื่นตัวทางการเมืองที่เห็นเด่นชัดมาตั้งแต่การเลือกตั้งแสดงว่าประชาชนเฝ้าติดตามให้ส.ว.ทำตามเจตจำนง ส.ว.จึงต้องตระหนัก และกลับไปพิจารณบทเรียนทั้งหมด