"ประยุทธ์ ศิริพานิชย์" หนุน "ชลน่าน" เหมาะสมนั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์" ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตส.ส. 8 สมัย กล่าวถึงปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลว่า คนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญมาก เพราะเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่อยู่ในโครงสร้างสามอำนาจคือบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ที่ทั้งสามโครงการจะมีการคานอำนาจระหว่างกัน คนเป็นประธานสภาฯ ซึ่งตามหลัก Bargaining power จุดสำคัญคือ ประธานสภาฯต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่ใช่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
ดังนั้น ตำแหน่ง ประธานสภาฯ ต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมาย แม่นเรื่องข้อบังคับการประชุมการประชุมฯ และเป็นบุคคลที่หลายฝ่ายยอมรับ ถ้าแบบนี้มันก็ไปได้ เพราะหากประธานสภาฯ ได้คนที่สมาชิก (ส.ส.-สว.) ไม่ยอมรับ ก็จะมีปัญหาในการประชุม ส่วนว่าจำเป็นต้องมีอาวุโสเป็นส.ส.หลายสมัยหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งแต่คงไม่ใช่ข้อจำกัดถึงขนาดนั้น ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นตอนนี้ คงต้องจบด้วยการเจรจา ระหว่างแกนนำสองพรรคการเมืองคือเพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องดูว่า คนที่มีหน้าที่เจรจา จะเจรจากันได้แค่ไหน
"นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์" กล่าวต่อว่า ถ้าจะมาใช้ตระกะเพียงแค่ว่า จะให้คนมาเป็นประธานสภาฯ จะเข้าไปขับเคลื่อนเรื่องภายในพรรคตัวเอง คงไม่ถูก เรื่องแบบนี้ มันต้องมองในภาพรวม การที่เพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องประธานสภาฯ ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เพราะจริงๆ แล้ว กรณีที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้ที่ก้าวไกลอ้างถึง ถ้าจะให้คนของตัวเองมาเป็นประธานสภาฯ ด้วย ต้องไปตรวจเช็กคะแนนกัน คือคะแนนมันต้องทิ้งห่าง ที่ผ่านมา พรรคอันดับหนึ่งจะเป็นพรรคตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคอันดับสอง ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ครั้งนี้พรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสอง มาตั้งรัฐบาลร่วมกัน ที่เสียงแทบจะใกล้เคียงกัน ถ้าจะเอื้อเฟื้อกันได้แค่ไหน จะมาอ้างว่า เอฟซีของพรรคตัวเองต้องการแบบนี้ แล้วพรรคจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คงไม่ได้ ส่วนคนในพรรคเพื่อไทย ก็มีคนเหมาะสมจะเป็นประธานสภาฯ หลายคน อย่างนพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็มีความเหมาะสมอยู่ และยังมีอีกหลายคน