ระวัง! โคราชป่วยไข้หูดับตาย 1 ราย สคร.9 หวั่น ปชช.เสี่ยงติดเชื้อป่วยไข้หูดับเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลังรีวิวซอยจุ๊ หมูดิบ ยอดวิวพุ่ง ทำคนอยากลอง
จากกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ที่ได้มีการรีวิวทานอาหารดิบ หรือดื่มสุราร่วมกับอาหารสุกๆดิบๆ เช่น เนื้อหมูสด เนื้อวัวสด ซอยจุ๊ ลาบดิบ ก้อยดิบ เป็นต้น ทางช่องทางยูทูป ติ๊กต็อก ทำให้มียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก จนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ อยากจะลองทำตาม รวมไปถึง ปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อป่วยเป็นโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้นได้
ซึ่งนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้หูดับในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 24 พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยโรคหูดับ แล้ว 163 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย โดยพบผู้เสียชีวิตที่ จ.น่าน 1 ราย , จ.ตาก 1 ราย , จ.อุตรดิตถ์ 2 ราย , จ.กำแพงเพชร 1 ราย , จ.มหาสารคาม 1 ราย , จ.หนองคาย 1 ราย และ จ.นครราชสีมา 1 ราย ซึ่งสถานการณ์โรคไข้หูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 20 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ จำนวน 40 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เมื่อผู้ป่วยแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 31 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 7 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคืออาชีพเกษตร พบมากถึงร้อยละ 35 รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 30 และอาชีพค้าขาย ร้อยละ 12.5 ตามลำดับ
โดยสาเหตุมาการทานเนื้อหมู หรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัสซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ และเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมูและอยู่ในเลือดของหมูที่กำลังป่วย ยิ่งในช่วงนี้มีการรีวิวการทำอาหารดิบร่วมกับดื่มสุราบนสื่อออนไลน์ หรือรับประทานหมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก หรือ สุกๆ ดิบๆ ก็เสี่ยงทำให้ติดเชื้อโรคหูดับได้ ซึ่งโรคไข้หูดับสามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตาได้ด้วย เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีไข้สูงเฉียบพลัน อุณหภูมิจะมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส และมีอาการปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง หูหนวกหรือการได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน รวมไปถึง การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด
จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังการทานอาหาร และการประกอบอาหาร ต้องทำให้ให้ถูกสุขลักษณะ อย่าทานหมูดิบ ลาบเลือดดิบ หรืออาหารปิ้งย่างสุกๆ ดิบๆ ซึ่งวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับอย่างถูกวิธี คือ ให้ทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น โดยให้ผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส เมื่อจะทานอาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์คีบเนื้อหมูดิบกับอุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ไม่ควรทานเนื้อหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อหมูจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มา ซึ่งหากจำเป็นจะต้องสัมผัสกับหมู เช่น เป็นผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล หรือสัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงานด้วย ถ้ามีบาดแผลตามร่างกายจะต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422