เริ่มแล้ว!! กระบวนการสอบคุณสมบัติ "พิธา" ปมถือหุ้นไอทีวี กกต.เรียก "เรืองไกร-นพรุจ-สนธิญา" ให้ข้อมูลเพิ่ม ด้าน "เรืองไกร" ร้องเพิ่ม ขอสอบย้อนหลังไปถึง ปี 2562 ลั่นหากฝ่าด่านนั่งนายกฯได้ จะยื่นยุบทั้ง ครม. ขณะ "สนธิญา" ยันขาดความชอบธรรมนั่งเป็นนายกฯ ตั้งข้อสังเกต ประธานสภาฯจะกล้าเสนอชื่อหรือไม่ หากอยู่ระหว่างศาล รธน.วินิจฉัย

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เชิญผู้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น มาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม

 

รายแรกเป็น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ  เดินทางมาเวลา 10.00 น  ก่อนเข้าพบ กกต. ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า วันนี้นอกจากมาให้ถ้อยคำต่อ กกต.แล้ว  จะยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเป็นคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญ กรณีนายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัคร ส.ส.เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อเป็นเหตุให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลง โดยศาลให้มีผลนับแต่วันสมัคร ส.ส.คือวันที่ 6 ก.พ. 2562 เนื่องจากเห็นว่าตามคำวินิจฉัยของศาล ดังกล่าวยึดตามตัวบทกฎหมายเพียง ว่า นายธัญญ์วาริน ถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ โดยไม่ได้มีการวางหลักว่าต้องถือมากน้อยแค่ไหน โดยนายธัญญ์วาริน ถือหุ้นอยู่ใน 2 กิจการ ต่างจากนายพิธา ที่ถือหุ้นไอทีวี แต่ต่อมาในปี 2564 กกต.ได้ยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ มาวินิจฉัยผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวม 4 คำวินิจฉัย โดยมีการสั่งดำเนินคดีอาญาด้วย

 

ซึ่งทำให้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงนายพิธา ถือหุ้นไอทีวีตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น กกต. ต้องตรวจสอบการลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยพรรคอนาคตใหม่ ปี 62 ด้วย เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตัดสิทธิ์ นายพิธาย้อนหลัง ถ้าศาลพิจารณาออกมาใน ลักษณะที่ว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติตั้งแต่ปี 62 เงินประจำตำแหน่งต่างๆ ทั้งของนายพิธาและผู้ช่วยส.ส. อาจจะมีปัญหาตามมาในเรื่องของบค่าตอบแทนต่างๆ

 

เมื่อถามว่ายื่นตรวจสอบการสิ้นสมาชิกภาพของนายพิธา เมื่อปี 2562 ด้วยหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ถือเป็นการกระทำ 2 กรรม เมื่อพบว่านายพิธา ยังคงถือหุ้นบริษัทไอทีวี ในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2566 และในฐานะหัวหน้าพรรคที่เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส. เขตเกือบ 400 เขตและ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จึงขอให้วินิจฉัยว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ และในฐานะผู้ยินยอมให้พรรคก้าวไกลเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตำแหน่งนี้ นำมาตรา 98 มาบังคับใช้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากร้อง กกต.โดยตรงตอนนี้แล้ว เมื่อ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแล้วก็จะไปขอร้องให้ ส.ส.และ สว. หรือสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อส่งคำร้องให้ตรวจสอบคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ กกต. ตามแนวทางที่เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบสมาชิกภาพ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 จนนายสมัครพ้นจากนายกฯ เพราะคำพิพากษาว่าเป็นลูกจ้าง จากหลักฐานใบหักภาษี ภงด.3 ไม่ได้ยึดตามพจนานุกรม เช่นเดียวกับกรณีของนายพิธา ก็มีหลักฐานเป็นใบ บมจ.6 ตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด จึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง กกต.ควรจะต้องนำไปประกอบการพิจารณา ส่วนผู้วินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

"ยืนยันว่าไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เป็นผู้ตรวจสอบนักกฎหมายอีกชั้นหนึ่ง จึงจำเป็นต้องขอให้ กกต. ย้อนตรวจสอบ นายพิธา ว่าสิ้นสมาชิกภาพหรือไม่ โดยอ้างอิงแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ส่วนกรณีที่ระบุว่า หาก นายพิธา ขายหุ้นทั้งหมดก็พ้นผิด อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะหากมีความผิด ก็ต้องผิดตั้งแต่วันที่สมัคร จะแก้ด้วยการโอนหุ้นเพื่อพ้นผิดไม่ได้ เป็นการวินิจฉัยแบบไม่เข้าใจกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 ครอบคลุมถึงบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย แม้จะได้ 376 เสียง ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติ ต่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะร้อง อาจจะพ้นทั้งคณะรัฐมนตรี"

 

จากนั้นเวลา 11.00 น.  นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล  อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006  ซึ่งเป็นบุคคลที่ 2 ที่ กกต.เชิญมาให้ถ้อยคำในคดีของนายพิธา โดยนายนพรุจ กล่าวว่า วันนี้จะขอให้ กกต. เร่งพิจารณาและมีมติก่อนที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง  ส่วนที่คำกล่าวที่ว่าขอให้นายพิธา ได้ทำหน้าที่บริหารประเทศไปก่อนเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้นั้น ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องยึดโยงกฎหมายไม่ใช่กฎหมู่ 

 

และสุดท้ายเป็นคิวของนายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง กกต.ได้เชิญมาให้ข้อมูล โดยนายสนธิญา ระบุว่า ตนไม่ใช่ผู้ร้องหลัก แต่มายื่นขอให้ กกต.เร่งสอบเรื่องนี้ อยากให้ กกต.ดำเนินการในให้เสร็จก่อนการประกาศรับรองผล เพราะเชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน​ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบความเสียหายขึ้นในวงกว้าง

 

นายสนธิญา ยังตั้งคำถามด้วยว่า หาก กกต. พิจารณาส่งชื่อนายพิธา ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้วประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะมาจากพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย จะกล้าทูลเกล้าฯ เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ในระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะหากเทียบเคียงกับกรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศาลยังมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยของศาลเลย  ซึ่งเรื่องนี้ก็จะทำให้ประเทศไทยมีช่องว่างในการปกครอง แม้จะมีรัฐบาลรักษาการ ก็ไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่ 

 

"วันนี้ผมมาเร่งรัดและสอบถามไทม์ไลน์การพิจารณาของ กกต. เพื่อให้ประชาชนรู้ความจริงว่าจะมีนายกฯ ได้เมื่อไหร่  และถ้าหากว่านายพิธาถือหุ้นจริง ก็จะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าไม่ได้โกรธเคืองใครเป็นพิเศษ  แต่เชื่อว่านายพิธา ขาดคุณสมบัติ ส่วนการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ก็มีความเป็นไปได้จากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ถ้าคนไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและเคารพกฎหมาย ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร"