"พิธา" แจง 3 สมาคมองค์กรท้องถิ่น "ก้าวไกล" มุ่งกระจายความเจริญ ก่อนกระจายอำนาจ ยืนยัน ไม่ทำสิ่งที่สุดโต่ง มีโรดแมปรองรับ ขณะที่ประชุม เสนอแก้ไข รธน. เพิ่มความอิสระให้ท้องถิ่น รัฐบาลกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น
1 มิ.ย. 66 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล นัดหมายประชุมร่วมกับนายกสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาท้องถิ่น
โดยก่อนเริ่มประชุม ได้มีหารือนอกรอบกับ 3 นายกฯสมาคม โดยนายกสมาคม อบจ.ได้ขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่เล็งเห็นความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ยอมรับมีหลายข่าวคราว แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เลือกพรรคก้าวไกลมาเป็นตัวแทน ซึ่งพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายที่จะมารับฟังความคิดเห็น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นับเป็นสิ่งที่ดี และหากเปรียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพีระมิด เราเปรียบเสมือนเป็นฐาน เพราะจะรับรู้ปัญหาต่างๆ และบริบทต่างๆของแต่ละองค์กร ย่อมแตกต่างกันไป
ด้านนายพิธา ยืนยันว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการกระจายความเจริญ ดังนั้น การกระจายอำนาจ คือกระบวนการไปสู่การพัฒนาความเจริญ ยืนยันไม่ได้ทำสิ่งที่สุดโต่ง ต้องมีระยะเวลาและแผนแม่บท อีกทั้งต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม จากนั้น ทั้ง 3 สมาคมได้มีการยื่นหนังสือเป็นข้อเรียบร้อยในการพัฒนาท้องถิ่นให้กับนายพิธา ด้วย
จากนั้นเข้าสู่การประชุมใหญ่ร่วมดัน นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้แสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการเลือกตั้งคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่นายพิธา ได้ขอขอบคุณที่ได้ร่วมประชุมกันในวันนี้ และขอบคุณในช่วงที่ผ่านมา ในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อคท้องถิ่น ซื้องวดนี้จะมารับฟังอุปสรรค และมองเป้าหมายการทำงานร่วมกันในช่วง 100 วันแรก ที่จะเป็น Quick Win ในการบริหารราชการร่วมกัน จากนั้นในช่วงหนึ่งปีแรกของรัฐบาล เราจะกระจายความเจริญ ก่อนที่จะกระจายอำนาจ จากนั้น ในวาระสี่ปีตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว ซึ่งต้องได้สร้างความร่วมมือกันของท้องถิ่น
ทั้งนี้ วาระการประชุมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางด้านการกระจายอำนาจ หลักๆจะพูดคุยกันในเรื่อง การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมกระบวนการปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระจายอำนาจให้มีความอิสระ และกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น รวมถึงการกำหนดแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปในความเหมาะสม
รวมถึงประเด็นของวาระผู้บริหารท้องถิ่น ที่มองว่าไม่ควรกำหนดวาระให้อยู่ดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี และติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ เพราะมองว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เนื่องจากผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นหากยังสามารถทำหน้าที่ และมีผลงาน ก็ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ