"สนธิญา" ร้อง "กกต." เพิ่ม ขอ กกต. ส่งศาล วินิจฉัย ยุบเพื่อไทย ปม ประกาศนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท แล้วทำไม่ได้ รวมถึงให้ พิจารณายุบพรรคก้าวไกล หาก "พิธา" ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ชี้เข้าข่ายครอบงำพรรค
7 มิ.ย. 66 นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ยุบพรรคเพื่อไทย และ ยุบพรรคก้าวไกล ใน 2 กรณี
โดยกรณี ของ พรรคเพื่อไทย เป็นกรณี ประกาศชะลอนโยบาย 10,000 บาท ที่จะแจกประชาชน ทั้งที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง อีกทั้ง กกต. ประกาศรับรองนโยบายดังกล่าวแล้ว และยังปัดตกไม่รับคำร้อง ที่มีการร้องว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถทำได้ ซึ่งผ่านมาเพียง 2-3 วัน หลังจากนั้นรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยก็มีการแถลงชะลอ นโยบายออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน
ดังนั้น วันนี้ จึงมาร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบว่า พรรคเพื่อไทย เข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เพราะขณะนี้ กกต. ยังไม่ประกาศรับรองผลเลย แต่ พรรคเพื่อไทยประกาศชะลอนโยบายแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ว่าการที่พรรคการเมืองจะประกาศนโยบายอย่างหนึ่งอย่างใดต้องมีการศึกษาว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่เอางยประมาณมาจากไหน จึงขอตั้งคำถามว่าการประกาศนโยบายนี้พรรคเพื่อไทยได้มีการศึกษาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ เพราะสิ่งที่ประกาศออกมาส่งผลให้ประชาชนที่อยากได้เงิน 10,000บาท ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยออกไปเลือกพรรคเพื่อไทยแต่กลับทำไม่ได้ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจะรับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร เปรียบเป็นการหลอกลวง ประชาชน ตามกฏหมายเลือกตั้ง หรือไม่ เป็นการประกาศให้ประชาชนเลือกแต่ทำไม่ได้ การมาอ้างว่าว่าระบบดิจิทัลในประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั่วถึง จึงตั้งคำถามว่า ถ้าทำไม่ได้แล้วประกาศได้อย่างไร และ กกต. รับรองนโยบายดังกล่าวได้อย่างไร เป็นการปาหี่กันหรือไม่
“การทำแบบนี้ทำให้ประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทย เพื่อให้ได้เงิน 10,000 บาท ผิดหวัง รวมทั้งผมด้วยที่ไม่ได้ตังค์ ดังนั้นการประกาศนโยบายอย่างนี้แล้วทำไม่ได้จะประกาศไปเพื่ออะไร จึงขอให้ กกต. พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อไทยด้วย"
ส่วนกรณีของพรรคก้าวไกล นายสนธิญา กล่าวว่า ได้ ขอให้ กกต. ตรวจสอบ ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์หัวหน้าพรรคก้าวไกล กระทำผิดข้อบังคับพรรคก้าวไกลหรือไม่ กรณีถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน เพราะมีข้อบังคับพรรคกำหนดห้ามไว้ชัดเจน จึงขอให้ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายพิธายังเป็นสมาชิก ของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งหากนายพิธาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคตั้งแต่ต้น และไปลงสมัครรับเลือกตั้งรวมถึงเซ็นรับรอง ผู้สมัครของพรรค จึงเป็นการเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมือง ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค