ผลสำรวจ "นิด้าโพล" เผย 75.55% เชื่อเจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายส่วยสติ๊กเกอร์เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ ส่วน 30.36% ค่อนข้างเชื่อจะแก้ไขปัญหาได้
วันที่ 11 มิ.ย. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ส่วยสติกเกอร์ รถบรรทุก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการบรรทุกน้ำหนักของรถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 82.90 ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด รองลงมา ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกไม่เกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่มั่นใจ
เมื่อถามความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และผู้ที่ระบุว่าไม่มั่นใจ (จำนวน 1,160 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้รถบรรทุกมีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 73.36 ระบุว่า เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่ง รองลงมา ร้อยละ 63.19 ระบุว่า เพื่อเพิ่มกำไรในธุรกิจขนส่ง ร้อยละ 27.07 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.09 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.76 ระบุว่า เชื่อมาก รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 75.55 ระบุว่า เจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ รองลงมา ร้อยละ 75.11 ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องการหาผลประโยชน์ ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงความเชื่อของประชาชนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกได้จริง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ รองลงมา ร้อยละ 27.80 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 17.83 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.01 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.74 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.71 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.79 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.93 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.74 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 34.28 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.05 สมรส และร้อยละ 2.67 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 23.51 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 36.49 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.63 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.17 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.20 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 7.94 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.11 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.23 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.36 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.56 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.69 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 6.11 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 22.14 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.08 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.31 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.84 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.35 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 3.74 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.54 ไม่ระบุรายได้